02 149 5555 ถึง 60

 

ขยับกาย’ช่วยบริหารสมอง เล่น-ออกกำลังวัยไหนทำก็ดี

‘ขยับกาย’ช่วย‘บริหารสมอง’ ‘เล่น-ออกกำลัง’วัยไหนทำก็ดี

วันอังคาร ที่ 13 มีนาคม พ.ศ. 2561, 06.00 น.

“จะไปเล่นอะไรนักหนา? เสียเวลาท่องตำราหมด”, “ลูกไม่ต้องทำอะไรนะ เดี๋ยวพ่อเดี๋ยวแม่จัดการให้ ตั้งใจเรียนตั้งใจอ่านหนังสือก็แล้วกัน”…เชื่อเหลือเกินว่าพ่อแม่ไทยรุ่นแล้วรุ่นเล่ามักนิยมเลี้ยงลูกด้วยหลักคิดทำนองนี้ กล่าวคือ มองว่าเด็กต้องอยู่กับหนังสือตำราเท่านั้น การใช้เวลาไปกับสิ่งอื่นแม้จะไม่นานก็ถือว่าไม่ดีแล้ว ซึ่งหลักคิดนี้เห็นได้ทั่วไปไม่ว่าจะเป็นครอบครัวธรรมดาพื้นๆ ไปจนถึงบ้านที่มีฐานะดีค่อนข้างร่ำรวย ด้านหนึ่งต้องบอกว่า “น่าเห็นใจ”เพราะพ่อแม่เองทำไปก็เพราะ “ห่วงลูก” กลัวว่าลูกจะแข่งขันสู้ชาวบ้านเขาไม่ได้

แต่อีกด้านหนึ่ง..การพยายามให้เด็กและเยาวชนท่องตำรามากเกินไปจนละเลยสิ่งอื่นๆ ส่งผลกระทบต่อทั้ง “สุขภาพกาย” ดังการเปิดเผยของ นพ.วชิระ เพ็งจันทร์ อธิบดีกรมอนามัย เมื่อเดือน ธ.ค. 2560 ว่า คนไทย 1 ใน 3 มีปัญหา “พฤติกรรมเนือยนิ่ง” หรือนั่งๆ นอนๆ “ถึง 14 ชั่วโมงต่อวัน”ขาดการขยับเขยื้อนร่างกายอย่างเพียงพอ และในจำนวนประชากรเนือยนิ่งนี้ “2 ใน 3 เป็นเด็กและเยาวชน” หากปล่อยไว้จะนำไปสู่การเป็นกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง หลอดเลือดหัวใจและสมอง รวมถึงภาวะอ้วนได้ในอนาคต

รวมถึง “สุขภาพจิต” อาทิ เมื่อต้นเดือน ก.พ. 2561 นพ.บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต เปิดเผยว่า ในปี 2560 มีผู้โทรศัพท์เข้ามาขอรับคำปรึกษาจากสายด่วนสุขภาพจิต 1323 มากถึง 70,268 สาย สาเหตุหลักคือ “เครียด-วิตกกังวล” และในจำนวนนี้พบว่าร้อยละ 15 หรือประมาณ 10,540 สาย เป็นประชากรวัยรุ่นอายุ 15-21 ปี ซึ่งความเครียดส่งผลต่อสุขภาพกายด้วย เช่น “ภูมิต้านทานโรคลดต่ำลง” เห็นได้ชัดคือเป็นหวัดได้ง่ายขึ้น รวมถึงเป็นสาเหตุของโรค NCDs ได้เช่นกัน

ผศ.ดร.ยศชนัน วงศ์สวัสดิ์ อาจารย์ภาควิชาวิศวกรรมชีวการแพทย์ และรองคณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวถึงในงานสัมมนาส่งเสริมสิทธิการเล่นของเด็ก “เล่นเพื่อชีวิตเด็ก” ว่า ที่ผ่านมาสังคมไทย“เข้าใจผิดมาตลอด” คิดว่าคนที่ชอบ “เล่นกีฬา-ออกกำลังกาย” คือพวก “หัวไม่ดี” เมื่อเทียบกับคนที่หมกตัวอยู่กับหนังสือตำราเรียน

อาจารย์ยศชนัน อธิบายว่า เมื่อเราขยับร่างกาย “สมองส่วนกลาง” จะทำงาน และส่วนสำคัญของระบบประสาทกลาง หรือ “เนื้อเทา” (Gray Matter) ก็จะหนาขึ้น ซึ่งเนื้อเทานั้นมีผลต่อการทำงานของสมองทั้งการคิด การจำ การพูด การมองเห็น-ได้ยิน และความรู้สึก ขณะที่สมองส่วนอื่นๆ เช่น “สมองส่วนหน้า” ทำหน้าที่เกี่ยวกับการคิดและการตัดสินใจ “สมองส่วนหลัง” ทำหน้าที่เกี่ยวกับการมองเห็น “สมองส่วนข้าง” ทำหน้าที่เกี่ยวกับการได้ยิน และ “สมองส่วนกลางเยื้องหลัง” ทำหน้าที่เกี่ยวกับการรับรู้ความรู้สึกของร่างกาย

“คนที่ไม่ออกกำลังกายเลย อ่านหนังสือไปก็จำได้แค่ประมาณหนึ่ง คนหนึ่งอ่านหนังสืออย่างเดียว 20 ชั่วโมง กับอีกคนอ่านแค่ 6 ชั่วโมง แต่แบ่งไปออกกำลังกาย 20 นาที คนหลังจะจำได้เยอะกว่า อันนี้มีงานวิจัยรับรอง แต่ที่เราสงสัยว่าทำไมนักกีฬา เล่นกีฬาเตะฟุตบอลเยอะเลยแต่คะแนนสอบไม่ดี อันนี้พบว่าเตะเสร็จแล้วนอน ไม่อ่านหนังสือ ก็ทำข้อสอบไม่ได้ ฉะนั้นลูกหลานท่านออกกำลังกาย ถ้าก่อนสอบก็อย่าหักโหมมาก อย่าให้ถึงหลับ เอาแค่ขยับขยายร่างกาย สมองทำงานเต็มที่ ฉลาดขึ้นแน่ๆ แต่ต้องมี Input (เช่น ทบทวนบทเรียน) ด้วย” อาจารย์ยศชนัน กล่าว

อาจารย์ยศชนัน กล่าวต่อไปว่า สมองส่วนกลางจึงมีความสำคัญต่อสมองส่วนอื่นๆ ที่เหลือ หากสมองส่วนกลางไม่ดีย่อมกระทบสมองส่วนอื่นๆ ไปด้วย “แน่นอนว่าการอยู่กับหน้าจอสมองส่วนกลางไม่ได้บริหาร” นอกจากนี้ การออกกำลังกายยังเป็นการออกกำลังสมองส่วน “ฮิปโปแคมปัส” (Hippocampus)ซึ่งเปรียบเสมือน “หน่วยความจำ” เห็นได้จากผู้ป่วยภาวะสมองเสื่อม (อัลไซเมอร์-Alzheimer) จะปรากฏสมองส่วนฮิปโปแคมปัสได้รับความเสียหายอย่างชัดเจนเมื่อเทียบกับสมองของคนปกติทั่วไป

นักวิชาการท่านนี้ ยกตัวอย่างว่า เมื่อเราจะจำอะไรสักอย่างหนึ่ง ลองสังเกตดูจะพบว่า “บางครั้งตอนนั่งเฉยๆ จะพยายามจำก็ทำได้ยากหรือทำไม่ได้ แต่พอลุกเดินไปมาสักพักกลับรู้สึกว่าค่อยๆ จำสิ่งนั้นได้ดีขึ้น” นั่นเพราะสมองส่วนฮิปโปแคมปัสถูกกระตุ้น จึงเป็นที่มาว่าทำไมคนเราทุกเพศทุกวัยต้องออกกำลังกาย โดยเฉพาะเด็กๆ ที่เป็นวัยสมองกำลังพัฒนา การออกกำลังกายหรือการละเล่นจึงสำคัญมาก เมื่อคนเราเคลื่อนไหวไปมา สมองทำงานก็คือเลือดมาเลี้ยง ส่งผลให้สมองเสื่อมช้าลง-เสื่อมยากขึ้น

นอกจากนี้กับคำถามที่ว่า “ออกกำลังกายเพิ่มสมาธิได้ไหม?” อาจารย์ยศชนัน ตอบว่า “ได้” เช่น การเล่นกีฬาแบดมินตัน ต้องตั้งใจว่า เดี๋ยวลูกแบดมันจะมาอยู่ข้างหน้าเรา ก็เป็นการทำสมาธิแล้ว ที่สำคัญคือทำสมาธิแบบนี้สมองส่วนหน้าทำงานเยอะขึ้น เป็นการฝึกตัดสินใจ ถ้าสมองส่วนหน้าทำงานได้ดีได้เร็ว ตัดสินใจเรื่องอื่นๆ ก็เร็ว คิดได้เร็ว จึงไม่ต้องแปลกใจว่าเหตุใดเด็กบางคนอ่านหนังสือเยอะแต่ทำข้อสอบได้ช้า แต่บางคนใช้เวลาอ่านน้อยกว่ากลับสอบได้ดีกว่า เพราะได้ออกกำลังกาย การได้ฝึกตัดสินใจบ่อยๆ สมองส่วนหน้ามีรอยหยักมากขึ้น การคิดก็ทำได้เร็วขึ้น

“คอมพิวเตอร์ไม่สามารถทำให้ Hippocampus ใหญ่ขึ้น คอมพิวเตอร์ไม่สามารถทำให้ Gray Matter หนาขึ้น แต่อันนี้ก็ต้องย้ำว่าไม่ใช่ว่าทุกคนเล่นอย่างเดียวไม่อ่านหนังสือเลย ก็ไม่ได้ เขาจำเป็นต้องเรียนด้วย เพียงแต่ตอนนี้ทุกอย่างมันพร้อม อัดความรู้เข้าไปก็จะแน่นขึ้น” อาจารย์ยศชนัน กล่าวย้ำ

คำถามสุดท้าย “แบบนี้ต้องไปเสียเงินเสียทองเรียนอะไรแพงๆ ไหม?” เรื่องนี้ อาจารย์ยศชนัน ชี้ว่าไม่จำเป็น เพราะ “กิจกรรมต่างๆ อยู่รอบตัวเรามานานแล้ว” เช่น หากผู้ใหญ่ลองนึกย้อนไปในวัยเด็ก ตอนเช้าๆ ได้เดินไปโรงเรียน ตอนพักเที่ยงเล่นกับเพื่อนๆ อย่างกระโดดเชือก หมากเก็บ และช่วงเย็นหลังเลิกเรียนก็เตะฟุตบอลบ้าง ตีแบดบ้าง กลับบ้านสมองปลอดโปร่งหลับสบาย แต่สำคัญคือ “เล่นแบบไม่ต้องบังคับ” เพื่อให้ได้ใช้สมองครบทั้งหมด

การเล่นช่วยพัฒนาการทางร่างกายและสติปัญญาของเด็กๆ

ด้าน เข็มพร วิรุณราพันธ์ ผู้จัดการสถาบันสื่อเด็กและเยาวชน (สสย.) กล่าวเพิ่มเติมว่า การเล่นช่วยวางรากฐานการเรียนรู้ การเล่นอิสระตามแต่จินตนาการของเด็ก เช่น บทบาทสมมุติ เล่นผจญภัย ซึ่งจะทำให้เด็กมีร่างกาย อารมณ์ จิตใจ สังคม มีความคิดสร้างสรรค์ สามารถค้นพบศักยภาพของตนเอง สู่การมีเป้าหมายในชีวิต และเป็นกระบวนการสร้างจิตสำนึกความรับผิดชอบและปูพื้นฐานสู่ความเป็นพลเมือง หรือในกลุ่มเด็กที่ขาดโอกาสการเล่นจะเป็นสิ่งที่ช่วยเยียวยาจิตใจ ลดความเครียด และความกดดัน เมื่อพบปัญหาชีวิตก็จะเลือกทางออกที่ดีให้แก่ตนเองได้

ดังนั้นความท้าทายของสังคมยุคนี้..คือจะทำให้ “สมดุลชีวิต” (Life Balance) เกิดขึ้นได้อย่างไร ทั้งวัยเด็กที่มีสมดุลระหว่างการเรียนกับการเล่น และวัยผู้ใหญ่ที่มีสมดุลระหว่างการทำงานกับการออกกำลังกาย เพื่อให้คนแต่ละช่วงวัยเป็น “มนุษย์ที่สมบูรณ์” สุขภาพดีทั้งกายและใจ!!!

14 March 2561

ที่มา แนวหน้า

Posted By STY_Lib

Views, 865

 

Preset Colors