02 149 5555 ถึง 60

 

สำนักระบาดวิทยา ชี้ คนตายจากพิษสุนัขบ้า ส่วนใหญ่ถูกกัดไม่ล้างแผล-รักษา

สำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค เผยบทสรุปพิษสุนัขบ้า พบสถิติคนเสียชีวิตส่วนมากเพราะถูกกัดแล้วไม่ได้ล้างแผล ทำการรักษาและฉีดวัคซีนสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค เปิดเผยบทสรุปทางระบาดวิทยาในการเฝ้าระวัง ป้องกันและควบคุมโรค

เมื่อวันที่ 5 มี.ค. 61 ที่ผ่านมา ระบุว่า สถานการณ์โรคพิษสุนัขบ้าในประเทศไทย พบผู้ป่วยและเสียชีวิตสูงสุดในปี 2523 จำนวน 370 ราย หลังจากนั้นมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยพบผู้ป่วยน้อยกว่าปีละ 10 ราย ตั้งแต่ปี 2554-2558 พบผู้ป่วย และเสียชีวิตด้วยโรคพิษสุนัขบ้าจำนวน 8, 4, 7, 6 และ 5 ราย ตามลำดับ แต่ในปี 2559 พบว่าผู้ป่วยและเสียชีวิตด้วยโรคนี้เพิ่มขึ้นเป็น 14 ราย ซึ่งสูงสุดในรอบ 8 ปี และลดลงเหลือ 11 ราย ในปี 2560ส่วนประชากรกลุ่มเสี่ยงต่อโรคพิษสุนัขบ้านั้น ผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่เป็นเพศชาย พบได้ในทุกกลุ่มอายุ โดยในแต่ละปีมักมีผู้เสียชีวิตที่อยู่ในช่วงวัยประถมศึกษาและมัธยมศึกษาร่วมด้วย และส่วนใหญ่มีรายได้เฉลี่ยต่อครัวเรือนค่อนข้างต่ำทั้งนี้ จากการวิเคราะห์ลักษณะการกระจายทางระบาดวิทยาของผู้เสียชีวิตทั้ง 11 ราย พบว่า 7 ใน 11 ราย อยู่ใน จ.ฉะเชิงเทรา 3 ราย จ.ชลบุรี 3 ราย และ จ.สมุทรปราการ 1 ราย ซึ่งเป็นจังหวัดที่อยู่ในพื้นที่ปศุสัตว์เขต 2 มีการตรวจพบเชื้อพิษสุนัขบ้าในสัตว์สูง เช่นเดียวกับอีก 3 จังหวัด คือ จ.บุรีรัมย์ จ.อุบลราชธานี และ จ.สุรินทร์ มีผู้เสียชีวิตจังหวัดละ 1 ราย อยู่ในพื้นที่ปศุสัตว์เขต 3 และอีก 1 จังหวัด คือ จ.ร้อยเอ็ด อยู่ในพื้นที่ปศุสัตว์เขต 4 ซึ่งก็มีการตรวจพบเชื้อพิษสุนัขบ้าสูงทั้งในพื้นที่ปศุสัตว์เขต 3 และเขต 4สำหรับพฤติกรรมของผู้เสียชีวิตด้วยโรคพิษสุนัขบ้า 11 ราย พบว่า 9 ราย หลังถูกสัตว์กัดแล้วไม่ได้ล้างแผลและไม่ได้ตระหนักถึงโรคพิษสุนัขบ้า โดยเฉพาะในรายที่มีบาดแผลจากการถูกกัดหรือข่วนเพียงเล็กน้อย หรือถูกลูกสุนัข ลูกแมวกัดคิดว่าคงไม่เป็นอะไร จึงไม่ไปพบแพทย์ มีเพียง 2 ราย ที่ไปรับบริการที่สถานรักษาพยาบาลทันทีหลังถูกกัด รายแรกรับบริการที่ รพ.สต. ซึ่งได้ล้างแผลและมีคำแนะนำให้ไปรับบริการรับวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าที่โรงพยาบาล แต่ผู้เสียชีวิตไปรับบริการที่คลินิกแพทย์แห่งหนึ่งได้รับเพียงวัคซีนป้องกันบาดทะยัก รายที่สองมีบาดแผลฉกรรจ์บริเวณใบหน้าและเยื่อบุใต้ตา ทำให้เสียชีวิตก่อนได้รับวัคซีนครบถ้วน เพราะระยะฟักตัวสั้นก่อนที่วัคซีนจะกระตุ้นให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันโรคได้ทันเมื่อวิเคราะห์ข้อมูลของผู้ป่วยและเสียชีวิตด้วยโรคพิษสุนัขบ้าปี 2559 พบว่า 11 รายจาก 14 ราย หรือร้อยละ 79 ขาดความตระหนักถึงโรคพิษสุนัขบ้า ไม่มีการล้างทำความสะอาดแผล ไม่ได้ไปสถานรักษาพยาบาลทันทีหลังถูกกัด และเมื่อทบทวนข้อมูลย้อนหลังผู้เสียชีวิตระหว่างปี 2555-2560 จำนวน 45 ราย พบว่าประมาณร้อยละ 90 ของผู้เสียชีวิตด้วยโรคพิษสุนัขบ้าไม่ได้เข้ารับการรักษาที่สถานพยาบาลใดๆ เลยหลังสัมผัสสัตว์ที่สงสัย

9 March 2561

ที่มา ไทยรัฐ

Posted By sty_lib

Views, 1471

 

Preset Colors