02 149 5555 ถึง 60

 

จิตแพทย์คาดรมควันฆ่าตัวตาย 3 ศพ มาจากพฤติกรรมเลียนแบบ พบป่วยซึมเศร้ามักมียีนอดทนต่ำ

จิตแพทย์คาดรมควันฆ่าตัวตาย 3 ศพ มาจากพฤติกรรมเลียนแบบ พบป่วยซึมเศร้ามักมียีนอดทนต่ำ

เสมาคมจิตแพทย์ฯ ชี้รมควันฆ่าตัวตายมาจากพฤติกรรมเลียนแบบ เพราะเห็นทำแล้วสำเร็จ เผยผู้ป่วยซึมเศร้าส่วนใหญ่มียีนความอดทนน้อยกว่าคนปกติ ทำให้เสี่ยงฆ่าตัวตายสูง

วันนี้ (7 มี.ค.) นพ.ปราการ ถมยางกูร กรรมการสมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย กล่าวถึงกรณีผู้ป่วยโรคซึมเศร้าฆ่าตัวตายด้วยวิธีการรมควันรวม 3 ราย ว่า สถานการณ์โรคซึมเศร้าในประเทศไทยพบมากขึ้น เพราะประชาชนมีความเข้าใจมากขึ้น แต่ผู้ป่วยซึมเศร้าที่เดินเข้าหาจิตแพทย์เองยังไม่ได้เพิ่มมากขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญ โดยอัตราการป่วยโรคซึมเศร้าในไทยยังคงที่ประมาณ 1.5 ล้านคน สาเหตุมาจากปัญหาเศรษฐกิจซึ่งเหมือนกันทั่วโลก และเรื่องของความสัมพันธ์ครอบครอบที่มีการพูดคุยกันน้อยลง หันไปใช้เทคโนโลยีโดยไม่สนใจใคร และปัญหาสุขภาพทางกายก็ทำให้เป็นโรคซึมเศร้าได้ โดยจากการศึกษาพบว่าผู้ที่ป่วยเป็นโรคมะเร็งตับอ่อน โรคไทรอยด์ตับ จะมีภาวะโรคซึมเศร้าเกิดขึ้นด้วย

นพ.ปราการ กล่าวว่า ทั้งนี้ข้อมูลทางการแพทย์พบว่า ผู้ป่วยซึมเศร้าส่วนใหญ่ มักมียีนด้านความอดทนน้อยกว่าคนปกติ ประกอบกับสิ่งที่เผชิญตั้งแต่วัยเด็กจนถึงวัยรุ่น ได้ผ่านการแก้ไขปัญหาได้สำเร็จหรือได้ระบายหรือไม่ จึงเป็นเหตุและปัจจัยในการฆ่าตัวตาย ทั้งที่ความจริงการอยู่ในโลกอีกสักพักอาจพบทางออกและความสุข ซึ่งจากข้อมูลพบว่า ผู้สูงอายุมีอัตราการฆ่าตัวตายเพิ่มขึ้น เนื่องจากปัจจุบันกลายเป็นครอบครัวเดี่ยวทำให้ความสัมพันธ์กับผู้สูงอายุน้อยลง ส่วนเรื่องการพยายามฆ่าตัวตายพบว่า เพศหญิงจะพยายามฆ่าตัวตายมากกว่าเพศชาย แต่อัตราการฆ่าตัวตายสำเร็จนั้น เพศชายจะสูงกว่าเพศหญิง 3 เท่า เนื่องจากเพศชายเวลาฆ่าตัวตายจะใช้วิธีการที่รุนแรงกว่า

"วิธีการฆ่าตัวตายที่พบว่ารุนแรงมากขึ้นและพบวิธีแปลกใหม่ ไม่ค่อยพบในบ้านเรา ส่วนหนึ่งมาจากพฤติกรรมเลียนแบบ การฆ่าตัวตายสำเร็จจากคนอื่น โดยชุดความจำหรือการเลียนแบบ อาจมาจากการดูคนที่มีชื่อเสียง เขาทำแล้วกระทำสำเร็จจึงเลียนแบบ โดยพฤติกรรมการฆ่าตัวตายที่เห็นตามหนังสือพิมพ์ก็จะพบว่ามีพฤติกรรมใหม่ๆ ที่บ้านเราไม่มี ทั้งนี้ อยากให้ทุกคนสังเกตพฤติกรรมคนรอบตัว หากมีพฤติกรรมที่เปลี่ยนไป เช่น พูดน้อยลง ไม่สังสรรค์กับเพื่อนเหมือนเคย มีการบ่นว่าไม่อยากอยู่ ก็ให้เราสงสัยว่าคนผู้นั้นอาจมีความเสี่ยงโรคซึมเศร้าและควรเข้าไปพูดคุยให้เพื่อนได้ระบาย แต่อย่าไปต่อว่า อย่างไรก็ตาม อีกปัญหาการฆ่าตัวตายที่สำคัญในวัยรุ่นทั่วโลกคือ การถูกกลั่นแกล้งผ่านทางสังคมออนไลน์ ทุกคนจึงต้องช่วยกันคิดในสิ่งที่ให้กำลังใจกันและกัน อย่าไปต่อว่าผู้อื่นเพราะทุกคนอยากมีความสุข และอยากย้ำว่าหากมีอาการซึมเศร้าให้มาปรึกษาแพทย์เพื่อทำการรักษา" นพ.ปราการ กล่าว

นพ.ณัฐกร จำปาทอง ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจิตเวชขอนแก่นราชนครินทร์ กล่าวว่า การฆ่าตัวตายมีหลายสาเหตุกระตุ้น โดยโรคซึมเศร้าก็เป็นส่วนหนึ่ง โดยโรคซึมเศร้ามีปัจจัยหลายอย่าง เช่น พันธุกรรม ความผิดปกติของสารเคมีในสมองบางตัว เรื่องความผิดหวัง ความเครียด การจัดการกับปัญหาไม่ได้ ปัจจุบันคาดว่าในจำนวน 100 คน จะมี 3 คนที่ป่วยซึมเศร้าในช่วงใดช่วงหนึ่งของชีวิต แต่อาจจะรู้ตัวหรือไม่ก็ได้ โดยการรู้ตัวส่วนหนึ่งมาจากเคยควบคุมอารมณ์ได้ แต่กลับทำได้ยากลำบากขึ้น รู้สึกกับคำพูด ความเครียดบางอย่างมากกว่าปกติ ทำให้เศร้าทั้งวัน วนเวียนแต่เรื่องนั้น ความรู้สึกนี้ส่วนใหญ่ รู้ตัว แต่อาจจะรู้หรือไม่รู้ว่าเป็นโรคซึมเศร้าหรือไม่ ทั้งนี้ คนที่เป็นจะมีช่วงที่มีอาการ อาจจะกินเวลา 2-3 เดือน คนรอบข้างอาจจะต้องมีความเข้าใจเรื่องการตอบสนองทางอารมณ์ที่อาจจะผิดแปลกไป แต่สิ่งที่อยากให้คนรอบข้างช่วยคือพาไปพบแพทย์ และดูแลให้กินยาตามแพทย์สั่ง ซึ่งเป็นหนึ่งในวิธีการรักษา นอกจากนี้ ยังมีการรักษาทางจิตสังคม ตั้งแต่การให้คำแนะนำ จิตบำบัด กิจกรรมบำบัด แต่โดยทั่วไปคือการรับประทานยาต้านซึมเศร้า ก็พบว่าสามารถรักษาให้หายขาด สามารถใช้ชีวิตได้ปกติ แต่ก็มีโอกาสกลับเป็นซ้ำได้ ดังนั้นการรักษาต้องทำให้หายขาด และป้องกันการกลับมาเป็นซ้ำ

“คนที่คิดฆ่าตัวตายจะมีเวลาปลีกตัวออก หากคนรอบข้างรู้ว่าหากคนข้างตัวมีความคิดก็อย่าไปห่างไกลจากเขา ดูแลเอาใจใส่หากการมีคนอยู่เป็นเพื่อน ดูแลใกล้ชิดจะมีส่วนช่วยไม่ให้มีการฆ่าตัวตายสำเร็จ อย่างไรก็ตาม เรื่องวิธีการนั้นเป็นพฤติกรรมเลียนแบบ ก่อนหน้านี้อาจจะไม่พบบ่อยในเรื่องของการฆ่าตัวตายด้วยการรมควัน ก่อนหน้านี้มีพบบ้างในต่างประเทศ เช่น ฮ่องกง ใต้หวัน เกาหลีใต้ แต่ยอมรับว่าในช่วงปลาย 60-61 เยอะกว่าที่ผ่านมา ก็เป็นสิ่งที่น่าสังเกตและเฝ้าระวัง ที่กรมต้องจับตาการฆ่าตัวตายด้วยวิธีดังกล่าว แต่ฝากการนำเสนอภาพของสื่อ ซึ่งคิดว่าคิดมากพอสมควร แต่บางอย่างเป็นเรื่องที่เลี่ยงได้ยาก โดยเฉพาะเรื่องวิธีการ มันก่อให้เกิดการลอกเลียนแบบได้” นพ.ณัฐกร กล่าว

8 March 2561

ที่มา ผู้จัดการ ออนไลน์

Posted By sty_lib

Views, 871

 

Preset Colors