02 149 5555 ถึง 60

 

เปิดสถิติความรุนแรง ภัยร้าย ฆ่า ครอบครัว

เปิดสถิติความรุนแรง ภัยร้าย ฆ่า ครอบครัว

เพราะครอบครัวถือเป็นหัวใจสำคัญต่อการพัฒนาประเทศ ดังนั้น ปัญหาความรุนแรงในครอบครัวจึงเป็นหนึ่งปัจจัยที่อาจฉุดรั้งทำให้ไทยติดหล่มได้

มูลนิธิหญิงชายก้าวไกลร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดเวทีรายงานสถานการณ์ปัญหาความรุนแรงในครอบครัวปี 2559 ภายใต้หัวข้อ “ความรุนแรงฆ่าครอบครัว” นำเสนอสถิติความรุนแรงในครอบครัวที่ปรากฏในหนังสือพิมพ์ 13 ฉบับปี 2559 จากการเก็บข้อมูลตลอดปีเพื่อสะท้อนปัญหาของครอบครัวที่แท้จริง ณ โรงแรมเอเชีย

จรีย์ ศรีสวัสดิ์ หัวหน้าฝ่ายส่งเสริมภาคีเครือข่าย มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล กล่าวว่า จากการรวบรวมสถานการณ์ตลอด 1 ปีที่ผ่านมา พบว่ามีข่าวความรุนแรงในครอบครัวสูงถึง 466 ข่าว ซึ่งมีการฆ่ากันถึง 48.5%, ฆ่าตัวตาย 17.6% และทำร้ายกัน 17.4% เกือบครึ่งของข่าวฆ่ากันนั้นใช้อาวุธปืนในการฆ่า และมีแอลกอฮอล์เป็นปัจจัยกระตุ้นถึง 18.5% นอกจากนี้ สถิติยังบอกด้วยว่า ส่วนใหญ่แล้วสามีจะฆ่าภรรยาด้วยความหึงหวง ส่วนผู้หญิงจะฆาตกรรมสามีเพราะทนถูกทำร้ายไม่ไหวอีกต่อไป โดยพบว่ากรุงเทพฯ ถือเป็นพื้นที่ที่เกิดเหตุมากที่สุด

“จากปัญหาเราเห็นว่าเกือบทุกข่าวมีความเชื่อมโยงกับแอลกอฮอล์ รวมถึงทัศนคติชายเป็นใหญ่ อาวุธที่ใช้ยังเป็นอาวุธปืน แม้จะมีการขึ้นทะเบียนแต่ก็ไม่ได้ถูกควบคุม หาซื้อได้ง่าย ซึ่งนอกจากจะมีการควบคุมใหม่แล้ว ก็ควรจะมีการปรับทัศนคติของผู้ชายไม่ให้ใช้อำนาจเหนือกว่า ให้เคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์และความเท่าเทียมทางเพศ สังคมต้องไม่มองว่าเรื่องความรุนแรงในครอบครัวเป็นเรื่องส่วนตัว” จรีย์ย้ำ

ขณะที่ผู้มีประสบการณ์ตรงอย่างนางสาวเอ (นามสมมุติ) วัย 33 ปี ที่ประสบปัญหาความรุนแรงจากเหตุสามีทำร้าย ถูกฟันเข้าที่ศีรษะเย็บ 14 เข็ม ถูกตีด้วยไม้หน้าสามและท่อเหล็ก ขณะกำลังท้องได้ 2 เดือน เนื่องจากสามีติดยาเสพติดและดื่มสุรา จนเธอลุกขึ้นมาดำเนินคดีในที่สุด เล่าว่า ครั้งแรกที่สามีเมายาก็ถูกทำร้ายปางตาย เราต้องรักษาตัวอยู่นานก็จริง แต่ก็ให้อภัยเขา เพราะคิดว่าเขาคือพ่อของลูก แต่ครั้งที่สองที่ถูกทำร้าย เรารู้สึกว่านี่คือตัวเรา ต้องดิ้นรนด้วยตัวเองแล้ว ไม่เช่นนั้นเราอาจจะตายได้ ตอนไปแจ้งตำรวจก็เกือบหมดหวัง เพราะไม่มีความคืบหน้าใดๆ แต่ก็ได้มูลนิธิช่วย ใช้เวลาเป็นปีกว่าจะดำเนินคดีนำสามีเข้าคุกได้ มิเช่นนั้นคงต้องอยู่อย่างหวาดกลัวไปตลอด

เห็นภาพของปัญหากันไปแล้ว ศ.กิติพัฒน์ นนทปัทมะดุลย์ จากคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เล่ามุมมองว่า จากข้อมูลเราพบว่าในหนึ่งปีมีคนเข้าไปขอความช่วยเหลือศูนย์พึ่งได้ 20,018 คน แต่มีคดีที่เข้าสู่กระบวนการเพียง 700 กว่าคดี และออกสู่หน้าสื่อเพียงแค่ 466 คดีในหนึ่งปี นั่นหมายความว่าในช่วงเวลาที่เราไม่รู้มีคนถูกทำร้ายร่างกายนับหมื่น เหตุที่เหยื่อไม่กล้าออกมาพูด ออกมาฟ้อง นั่นเพราะถูกกำแพงความคิดกดทับอยู่ 3 ชั้น นั่นคือ โทษตัวเอง คิดว่าตัวเองไม่ดี, อายชุมชน กลัวเพื่อนจะรู้ และสุดท้ายคืออายสังคมภายนอก กลัวที่คนอื่นจะเข้ามาถามมากขึ้น ทำให้ผู้หญิงไม่ได้รับความคุ้มครอง นอกจากนี้ หลายคนยังกลัวว่า หากแจ้งความจับสามีแล้วจะไร้ที่พึ่ง เพราะได้ลาออกจากงานมาดูแลลูกแล้ว ซึ่งเป็นสิ่งที่สังคมต้องลุกขึ้นมาช่วยกัน ออกมาเป็นหูเป็นตา และปลุกผู้หญิงให้หลุดจากความเป็นเหยื่อนี้เสีย

ด้านป้ามล-ทิชา ณ นคร ผู้อำนวยการศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนบ้านกาญจนาภิเษก เผยว่า สิ่งที่น่าสนใจจากนี้คือ ทำอย่างไรให้เหยื่อลุกขึ้นมาพิทักษ์สิทธิตนเองและไม่เป็นเหยื่ออีกต่อไป ลุกขึ้นมาสู้ว่าจุดไหนเป็นต้นเหตุของปัญหาและควรยุติอย่างไร ซึ่งถือเป็นการแก้ปัญหาที่ได้ผลมากกว่า และจะทำอย่างไรให้ผู้กระทำยุติการทำความรุนแรง ต้องให้เขาลองคิดว่า ช่วงนั้นทำอะไร เพราะอะไร เมื่อรู้สาเหตุ ปรับทัศนคติก็จะเลือกทางที่ถูกด้วยตัวเองได้

ลดความรุนแรง เพื่อสังคม

20 February 2561

ที่มา ข่าวสด

Posted By sty_lib

Views, 508

 

Preset Colors