02 149 5555 ถึง 60

 

โภชนาการบำบัด ตัวช่วย ผู้สูงวัยป่วยเรื้อรังสุขภาพดี

'โภชนาการบำบัด' ตัวช่วย ผู้สูงวัยป่วยเรื้อรังสุขภาพดี

ด้วยวัยที่มากขึ้น การเลือกรับประทานอาหารให้สอดคล้องกับโรคที่เป็นคือสิ่งสำคัญ โดยเฉพาะคนสูงอายุที่ป่วยเรื้อรัง อาทิ เบาหวาน, ความดันโลหิตสูง, ไขมัน ฯลฯ ถ้าสังเกตให้ดีคนส่วนใหญ่มักจะตามใจปาก และควบคุมอาหารเฉพาะเวลาที่จะมาพบแพทย์ นั่นจึงทำให้อาการของโรคไม่ทุเลาลง ดังนั้นการที่ลูกหลานคอยสอดส่องพฤติกรรมการบริโภคอาหารให้ถูกต้อง กระทั่งกลายเป็นกิจวัตรประจำวัน ก็ถือเป็นตัวช่วยเสริมที่ทำให้อาการป่วยของคุณตาคุณยายทุเลาเบาบางลง หรืออยู่กับโรคได้แบบสุขภาพดี

พี่แวว-แววตา เอกชาวนา นักโภชนาการ โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ ให้คำแนะนำว่า “เมื่ออายุมากขึ้น ระบบการทำงานของอวัยวะต่างๆ ของผู้สูงวัยก็จะลดลง อาทิ การรับรสของลิ้นจะทำงานน้อยลง โดยเฉพาะผู้ใหญ่ที่ป่วย “โรคความดันโลหิตสูง” ดังนั้นลูกหลานต้องระวังเรื่องความเค็ม ต้องไม่ใส่เกลือในปริมาณที่มากลงในอาหาร นอกจากนี้ก็ไม่ควรใส่ผงชูรสหรือผงฟู (เบกกิ้งโซดา), เต้าเจี้ยว, เต้าหู้ยี้ เพราะเป็นเครื่องปรุงรสที่มีความเค็ม เช่น หากต้องการตุ้มน้ำซุปให้ผู้สูงวัยรับประทาน แนะนำว่าให้ใส่หอมใหญ่หรือข้าวโพดแทนเครื่องปรุงรสที่กล่าวมา แต่ให้เน้นการรับประทานผักและผลไม้ที่มีแร่ธาตุโพแทสเซียมและแมกนีเซียม (พบได้ในถั่วต่างๆ) ซึ่งเป็นสาระสำคัญที่ช่วยดูดซับหรือละลายความเค็มจากอาหารที่รับประทานเข้าไป

ส่วนผู้ที่ป่วย “โรคเบาหวาน” โดยพื้นฐานร่างกายแล้ว ท่านจะมีน้ำตาลอยู่ในปริมาณที่ค่อนข้างเยอะ และหากรับประทานความหวานเข้าไปจำนวนมาก เมื่อร่างกายใช้ไม่หมดก็จะคั่งอยู่ในกระแสเลือด นั่นจึงทำให้เวลาที่ปัสสาวะมีมดตอม ซึ่งการรักษาก็มีทั้งการฉีดยาและรับประทานยาเม็ด ดังนั้นการเลือกบริโภคอาหารให้ถูกหลักอนามัยยังแนะนำว่า ผู้ป่วยสามารถรับประทานคาร์โบไฮเดรตได้ ยกตัวอย่างง่ายๆ ว่า ผู้สูงวัยเพศชายสามารถรับประทานข้าวได้ 2-3 ทัพพีต่อมื้อ ส่วนผู้สูงวัยเพศหญิงก็สามารถกินข้าวได้มื้อละไม่ต่ำกว่า 2 ทัพพีต่อมื้อ แต่ทั้งนี้ควรเป็นข้าวซ้อมมือ (ข้าวกล้อง) หรือเป็นอาหารเส้นที่ไม่ฟอกสี จะดีที่สุด

นอกจากนี้ก็จำเป็นต้องจำกัดความหวานโดยใช้หลักจำง่ายๆ ว่า “อาหารหวานมากให้รับประทานน้อย แต่อาหารหวานน้อยให้รับประทานมาก” หรือ บริโภคอาหารที่มีความหวานระดับปานกลางดีที่สุด หากเป็นผลไม้ เช่น ส้ม, ฝรั่ง, แอปเปิล โดยผู้สูงวัยสามารถกินฝรั่งได้ประมาณ 5-6 ชิ้น โดยให้ท่านแบ่งเคี้ยวให้ได้ประมาณ 15-20 คำ (การเคี้ยวให้ได้มากที่สุดจะช่วยเปลี่ยนพลังงานให้เป็นน้ำตาลช้าๆ เพื่อเข้าสู่ร่างกาย) หรือหากเป็นผลไม้รสหวานจัดอย่าง ทุเรียน, ลิ้นจี่ ให้รับประทานได้เพียง 2-3 คำเท่านั้น หรือหากเป็นสับปะรดที่มีความฉ่ำ ก็ให้บริโภคเพียง 3-4 คำต่อครั้งเช่นกัน นอกจากนี้ก็ควรหลีกเลี่ยงน้ำผลไม้สำเร็จรูป แม้ว่าในฉลากจะระบุว่าไม่มีน้ำตาล แต่น้ำตาลจะออกมาจากผลไม้ ที่สำคัญจะไม่มีกากใยอาหารในการช่วยย่อยได้เหมือนกับน้ำผลไม้ปั่นที่ไม่แยกกาก ดังนั้นผู้บริโภคจะได้น้ำตาลในปริมาณที่เยอะเกินร่างกายได้รับ ที่สำคัญผู้สูงวัยป่วยโรคเบาหวานควรหลีกเลี่ยงของหวาน เช่น ทองหยิบ, ทองหยอด, ฝอยทอง, ชาเย็น, กาแฟ แต่ให้เน้นการบริโภคผักเป็นหลัก ซึ่งจะทำให้ท่านอิ่มเร็วและขับถ่ายได้ดี โดยแนะนำให้ผู้สูงอายุรับประทานผักนิ่มๆ ให้ได้วันละ 3 ทัพพี นอกจากนี้ ผู้ป่วยเบาหวานเองก็ต้องควบคุมความเค็มเช่นเดียวกัน เพราะอาการของโรคจะเกี่ยวพันถึงไต ถ้าจะให้ดีก็จำเป็นต้องหลีกเลี่ยงอาหารเค็มจัด ไม่ใส่ผงชูรส งดบริโภคเนื้อเค็ม หรือกุนเชียง ก็จะดีต่อสุขภาพไม่น้อย

ถัดมาที่ “โรคกระดูกพรุน” โดยทั่วไปแล้วผู้สูงวัยมักจะประสบกับภาวะดังกล่าว แล้วแต่ว่าจะมากหรือน้อย ตัวช่วยสำคัญคือการบริโภคแคลเซียม แต่ทั้งนี้ ไม่สามารถทำให้กระดูกกลับไปแข็งแรงได้เหมือนตอนอายุยังน้อย แต่จะช่วยทำให้กระดูกไม่พรุนมากขึ้น โดยการดื่มนมให้ได้ 1 แก้วต่อวัน หรือให้ดื่มนมถั่วเหลืองสำเร็จรูปที่ข้างกล่องระบุว่า เพิ่มแคลเซียม 100 มิลลิกรัม นั่นแปลว่าผู้สูงอายุจะได้รับแคลเซียม 400 กรัม นอกจากนี้ น้ำเต้าหู้ที่ขายอยู่ในท้องตลาดทั่วไปก็สามารถดื่มได้เช่นเดียวกัน แม้จะไม่สามารถวัดปริมาณแคลเซียมได้ แต่ก็เป็นตัวช่วยเสริมที่ดี

นอกจากนี้ ควรบริโภคผักใบเขียวที่มีแคลเซียมสูง อาทิ คะน้า, ใบยอ หรือรับประทานแกงเลียง หรือจะนำงาขาวและงาดำมาคั่วรับประทานกับข้าวสวย หรือแม้การบริโภคปลาข้าวสารคั่วให้เหลือง จากนำมาตำและโรยใส่ข้าวรับประทาน ก็เป็นการเพิ่มแคลเซียมเพื่อป้องกันโรคกระดูกพรุน หรือหมั่นนำวัตถุดิบอย่างผักใบเขียว และฟองเต้าหู้มาทำอาหารให้ผู้สูงวัยรับประทาน ก็ป้องกันโรคกระดูกพรุนได้ทางหนึ่ง

ปิดท้ายกันที่ “โรคอ้วน” ซึ่งจำเป็นต้องควบคุมทั้งคาร์โบไฮเดรต, ไขมัน (บริโภคไขมัน 1 กรัม จะได้พลังงาน 9 แคลอรี) แนะนำว่า ใน 1 วันผู้สูงอายุไม่ควรกินน้ำมันเกิน 2 ช้อนโต๊ะ และน้ำตาลไม่เกิน 6 ช้อนชาต่อวัน ดังนั้นจึงต้องหลีกเลี่ยงของทอด แต่ให้เปลี่ยนเป็นการต้ม นึ่ง ปิ้ง นอกจากก็ไม่ควร “บริโภคเนื้อสัตว์บด” เช่น ไก่ หมู เนื้อบด เพราะมักจะปนเปื้อนน้ำมันจำนวนมาก เพื่อให้เนื้อสัตว์มีความนิ่มในการนำไปปรุงอาหาร หรือแม้แต่เนื้อสัตว์สำเร็จรูป เช่น ไส้กรอก, ติ่มซำ, ขนมจีบ ก็ควรหลีกเลี่ยงเช่นเดียวกัน เพราะในอาหารดังกล่าวจะมีปริมาณน้ำมันเกิน 30% แต่ให้เน้นรับประทานผักและข้าวไม่ขัดสี จะช่วยทำให้ผู้สูงวัยอิ่มเร็วขึ้น ที่ลืมไม่ได้คือ “ไขมันแฝง” ที่อยู่ในถั่วลิสงคั่ว, อะโวคาโด เช่น หากคุณตาคุณยายกินน้ำจิ้มที่ใส่ถั่วลิสงคั่ว นั่นจะทำให้ได้รับไขมันเพิ่ม หรือแม้การบริโภคอาหารที่มีกะทิ ถ้าเป็นไปได้ให้ตักผักเยอะๆ ขณะเดียวกันก็ต้องบริโภคอาหารหวานให้น้อยที่สุด หรือใช้สมุนไพรอย่าง “หญ้าหวาน” แทนน้ำตาล เป็นต้น”.

20 February 2561

ที่มา ไทยโพสต์

Posted By sty_lib

Views, 951

 

Preset Colors