02 149 5555 ถึง 60

 

พบไทยฆ่าตัวตายซ้ำ 15% รุก 3 มาตรการเฝ้าระวังป้องกัน

พบไทยฆ่าตัวตายซ้ำ 15% รุก 3 มาตรการเฝ้าระวังป้องกัน

เผยแพร่: 15 ก.พ. 2561 13:21:00 ปรับปรุง: 15 ก.พ. 2561 17:30:00 โดย: MGR Online

กรมสุขภาพจิต เผย ไทยมีคนพยายามฆ่าตัวตายกว่า 5.3 หมื่นคน พบ 15% พยายามปลิดชีพตัวเองซ้ำ เดินหน้า 3 มาตรการป้องกันฆ่าตัวตาย จัดทำคู่มือตรวจวินิจฉัยมาตรฐานเดียว ขึ้นทะเบียนผู้ป่วยทุกจังหวัดเฝ้าระวังเชื่อมโยงเป็นเครือข่าย พร้อมปรับโฉมแอปพลิเคชันสบายใจ

น.ต.นพ.บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวภายหลังตรวจเยี่ยม รพ.จิตเวชขอนแก่นราชนครินทร์ จ.ขอนแก่น ว่า รพ.จิตเวชขอนแก่นฯ เป็นศูนย์ป้องกันการฆ่าตัวตายในระดับชาติ โดยในปี 2561 กรมสุขภาพจิตมีนโยบายเน้นหนักที่การป้องกันการฆ่าตัวตาย โดยเฉพาะกลุ่มที่พยายามฆ่าตัวตาย ซึ่งจากผลสำรวจปัญหาสุขภาพจิตระดับชาติในปี 2556 พบคนไทยอายุ 18 ปีขึ้นไป มีอัตราพยายามฆ่าตัวตายอยู่ที่ร้อยละ 0.1 คาดว่า ทั่วประเทศจะมีประมาณ 53,000 คน ส่วนใหญ่เป็นวัยทำงานอายุ 35 - 39 ปี และในกลุ่มนี้ร้อยละ 15 จะกลับทำซ้ำอีกภายใน 1 ปี จึงตั้งเป้าจะป้องกันไม่ให้เกิดการฆ่าตัวตายซ้ำ ซึ่งช่วยให้ประเทศลดการสูญเสียด้านเศรษฐกิจได้ปีละ 300 ล้านบาท

น.ต.นพ.บุญเรือง กล่าวว่า มาตรการป้องกันการฆ่าตัวตายซ้ำ จะเน้น 3 เรื่อง คือ 1. การเพิ่มพูนความรู้แก่แพทย์ทั่วไป แพทย์เวชปฏิบัติใน รพ.ศูนย์ รพ.ทั่วไป และ รพ.ชุมชน ในการดูแลรักษาผู้ป่วยที่พยายามฆ่าตัวตาย โดยกรมฯ ได้จัดทำคู่มือในการตรวจวินิจฉัยโรคเป็นมาตรฐานเดียวกันทั่วประเทศ และขึ้นทะเบียนในการติดตามกลุ่มนี้ให้เข้าถึงบริการโดยเฉพาะ 2. การปรับฐานข้อมูลผู้ป่วยที่เข้าสู่ระบบการดูแลรักษาโดยออกแบบให้แพทย์ทั่วประเทศสามารถส่งข้อมูลผู้ป่วยเข้าศูนย์ข้อมูลกลางที่ รพ.จิตเวชขอนแก่นฯ ทางระบบออนไลน์ ซึ่งจะปรากฏเป็นทะเบียนของผู้ป่วยในแต่ละจังหวัด สามารถใช้ติดตามเฝ้าระวังผู้ป่วยได้อย่างต่อเนื่องเพื่อไม่ให้ฆ่าตัวตายซ้ำ โดยเฉพาะการใช้เป็นข้อมูลการติดตามเยี่ยมบ้านของทีมหมอครอบครัวและการดูแลในระดับพื้นที่ที่เชื่อมโยงเป็นเครือข่าย และ 3. เพิ่มช่องทางการเข้าถึงบริการ โดยให้ความรู้ประชาชนผ่านแอปพลิเคชันสบายใจ (sabaijai) เชื่อมโยงกับสายด่วนสุขภาพจิต 1323

นพ.ณัฐกร จำปาทอง ผอ.รพ.จิตเวชขอนแก่นฯ กล่าวว่า การฆ่าตัวตายเป็นปรากฎการณ์แสดงถึงความอ่อนแอของบุคคลในการปรับตัวเมื่อต้องเผชิญปัญหาที่เกิดขึ้น สาเหตุหลักของการฆ่าตัวตายมาจาก 3 ปัจจัยหลัก คือ ความสัมพันธ์บุคคลเช่นทะเลาะกัน ถูกตำหนิ ดุด่า ครอบครัวมีปัญหาความสัมพันธ์ โดยเฉพาะผู้สูงอายุที่ไม่มีคนดูแล จะมีความเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตายสำเร็จ 4 เท่าตัวของผู้สูงอายุทั่วไป รองลงมาคือ ปัญหาการเจ็บป่วยโรคเรื้อรัง ผู้ป่วยจะมีความเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตายสำเร็จสูงเป็น 3 เท่าของคนที่ฆ่าตัวตายที่ไม่ป่วย และจากปัญหาเศรษฐกิจ สำหรับกลุ่มที่มีความเสี่ยงฆ่าตัวตายสูงกว่าคนทั่วไปที่ประชาชนต้องช่วยกันเฝ้าระวังมี 5 กลุ่ม ได้แก่ 1. ผู้ป่วยโรคจิตเวชที่เกิดจากการเสพสารเสพติด เช่น เหล้า ยาบ้า 2. กลุ่มสูญเสีย หรือผู้ที่รอดชีวิตจากเหตุรุนแรง 3. กลุ่มที่มีประวัติการฆ่าตัวตาย 4. กลุ่มพฤติกรรมก้าวร้าว อารมณ์หุนหันพลันแล่น และ 5. กลุ่มผู้ป่วยโรคเรื้อรังที่ก่อให้เกิดความทุกข์ทรมานหรือมีอาการรุนแรง เช่น โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูงและโรคทางจิตเวช

นพ.ณัฐกร กล่าวว่า สำหรับการให้ความรู้ประชาชนผ่านทางแอปพลิเคชันสบายใจขณะนี้ได้ปรับปรุงให้ทันสมัยยิ่งขึ้นสามารถใช้ได้ทั้งระบบไอโอเอส และ แอนดรอยด์ โดยได้เพิ่มหมวดการให้ความรู้ผ่านทางคลิปวิดีโอสั้นๆ เข้าไป สามารถดาวน์โหลดเก็บไว้ในเครื่องได้ ขณะนี้มีผู้ใช้งานแล้วประมาณ 15,000 คน จากการประเมินเบื้องต้นพบว่ามีความพึงพอใจในระดับสูง และอยู่ระหว่างการพัฒนาแอพฯนี้เพื่อเพิ่มศักยภาพการสื่อสาร สามารถโต้ตอบปัญหาได้ทันที ขณะเดียวกันจะเพิ่มเกมให้ผู้ใช้ เล่นเพื่อสร้างสรรค์ความคิดเชิงบวก คาดว่า จะเสร็จในเร็วๆ นี้

16 February 2561

ที่มา ผู้จัดการ ออนไลน์

Posted By STY_Lib

Views, 551

 

Preset Colors