02 149 5555 ถึง 60

 

อภ.เผยยอดขายยาโตขึ้นเกือบ 5% เร่งเดินหน้า 3 โครงการใหญ่ "ผลิตยามะเร็ง" ได้ในอีก 8 ปี

อภ.เผยยอดขายยาโตขึ้นเกือบ 5% เร่งเดินหน้า 3 โครงการใหญ่ "ผลิตยามะเร็ง" ได้ในอีก 8 ปี

เผยแพร่: 13 ก.พ. 2561 16:19:00 โดย: MGR Online

อภ.เผยยอดจำหน่ายยาปี 60 จำนวน 1.5 หมื่นล้านบาท โตขึ้น 4.95% ประหยัดงบประเทศ 6.3 พันล้านบาท เตรียมเดินหน้า 3 โครงการใหญ่ เปิดโรงงานผลิตยามะเร็ง คาดปี 68 ผลิตและจำำหน่ายเองได้ เน้นมะเร็งที่คนป่วยมาก หวังช่วยผู้ป่วยเข้าถึงยา ลดราคาลงกว่า 50% พร้อมลุยสร้างโรงงานยารังสิตเฟส 2 รองรับย้ายฐานการผลิตทั้งหมด และเดินหน้าผลิตผลิตภัณฑ์สารสกัดจากสมุนไพร

วันนี้ (13 ก.พ.) นพ.โสภณ เมฆธน ประธานกรรมการองค์การเภสัชกรรม (อภ.) แถลงข่าวผลการดำเนินงานปี 2560 และทิศทางการดำเนินงานในอนาคตของ อภ. ว่า ภารกิจของ อภ.คือจัดหาและจำหน่ายยา ศึกษาวิจัยยาใหม่ ตรวจวิเคราะห์ยาและวัตถุดิยเพื่อให้มีคุณภาพ เป็นการรักษาความมั่นคงด้านยาและวัคซีนของไทย ทั้งในภาวะปกติและฉุกเฉิน ทั้งนี้ ปี 2560 อภ.มียอดจำหน่าย 15,905 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2559 จำนวน 750 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.95 แบ่งเป็นยา อภ. 7,300 ล้านบาท ยาของผู้ผลิตอื่น 8,605 ล้านบาท โดยเป็นยอดกระจายยาเชิงสังคมคือมีผู้ผลิตน้อยหรือไม่มีผู้ผลิตในประเทศได้ถึง 11,563 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 73 ของผลประกอบการ เพิ่มขึ้นจากปี 2559 จำนวน 1,189 ล้านบาท

นพ.โสภณ กล่าวว่า สิ่งที่ อภ.จะเดินหน้าต่อมี 3 เรื่องหลักๆ คือ 1.โครงการวิจัย พัฒนา และก่อสร้างโรงงานผลิตยารักษาโรคมะเร็ง คาดว่าจะทำให้ราคายาลดลง 50% ผู้ป่วยเข้าถึงยามากขึ้น ซึ่งล่าสุดได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกับ ปตท.ศึกษาความเป็นไปได้ของการสร้างโรงงานแล้ว เบื้องต้นคาดว่าใช้งบประมาณ 1,500 ล้านบาท 2.โครงการก่อสร้างโรงงานผลิตยารังสิตระยะที่ 2 ที่ อ.ธัญบุรี จ.ปทุมธานี เพื่อผลิตยาน้ำรับประทาน ยาครีม ยาขี้ผึ้ง ยาปราศจากเชื้อ ยาน้ำใช้ภายนอก ยาฉีด และยาเม็ด รวมทั้งคลังที่ใช้สำหรับการสำรองวัตถุดิบและอุปกรณ์ โดยใช้งบประมาณ 5,607 ล้านบาท ซึ่งบอร์ด อภ.มีมติเห็นชอบนำโครงการดังกล่าวเสนอคณะรัฐนตรี (ครม.) เห็นชอบ ขณะที่แบบการก่อสร้างโรงงานก็ผ่านการเห็นชอบจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและย า(อย.) แล้ว อยู่ระหว่างการจัดทำร่างข้อกำหนดการจ้างควบคุมงานก่อสร้างและกำหนดราคากลาง คาดจะเริ่มก่อสร้างได้ในปลายปี 2561 แล้วเสร็จใปี 2564 ซึ่งอนาคตจะย้ายฐานการผลิตและการสำรองและกระจายเกือบทั้งหมดจากโรงงานยาพระราม 6 ไปที่แห่งนี้

นพ.โสภณ กล่าวว่า และ 3.แผนการสร้างนวัตกรรมและผลิต ผลิตภัณฑ์จากสมุนไพร มุ่งเน้นวิจัย พัฒนา และผลิต ผลิตภัณฑ์ที่เป็นสารสกัดจากสมุนไพรที่มีผลงานวิจัยที่เป็นระบบ มีการทดสอบประสิทธิผลและความปลอดภัยในการใช้ มีการควบคุมคุณภาพตามมาตรฐาน GMP โดยเน้นทั้งสารสกัดสมุนไพรที่เป็นยาเดี่ยว สมุนไพรตำรับ ที่มีความต้องการใช้สูงในระบบสุขภาพของประเทศและตลาดโลก เช่น กลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง โรคมะเร็ง เป็นต้น และกลุ่มยาสมุนไพรที่ใช้ในการดูแลสุขภาพขั้นพื้นฐาน ไก้แก่ ยาสามัญประจำบ้านแผนโบราณ ยาสมุนไพรในบัญชียาหลักแห่งชาติ รวมถึงยากำพร้า และยาขาดแคลน โดยที่ผ่านมา อภ.ได้ทำผลิตภัณฑ์แคปซูลสารสกัดขมิ้นชัน (Antiox) ขึ้นทะเบียนยาพัฒนาจากสมุนไพรแผนปัจจุบันรายแรกในไทย โดยจะมีการก่อสร้างโรงงานสารสกัดสมุนไพรด้วยงบประมาณ 717 ล้านบาท ที อ.หนองใหญ่ จ.ชลบุรี และจะมีการทำโครงการเกษตรพันธ์ (Contact Farming) พืชสมุนไพร เพื่อให้ได้วัตถุดิบที่มีสารสำคัญจากสมุนไพรได้มาตรฐาน ปริมาณเพียงพอและต่อเนื่อง

นพ.นพพร ชื่นกลิ่น ผู้อำนวยการ อภ. กล่าวว่า ปี 2560 อภ.ช่วยประหยัดงบประมาณจัดหายาภาครัฐได้ถึง 6,398 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2559 จำนวน 1,417 ล้านบาท ทั้งนี้ แม้ อภ.จะไม่ได้เน้นเรื่องธุรกิจการตั้งเป้าการขายโตขึ้น 5% แต่สิ่งสำคัญคือการช่วยประหยัดงบประมาณให้ประเทศ โดยตั้งเป้าว่าจะต้องไม่ต่ำกว่า 6 พันล้านบาทในปีต่อไป เกิดการขาดยาน้อยที่สุดและมีความปลอดภัยมากที่สุด สำหรับการสร้างโรงงานผลิตยามะเร็งนั้น เนื่องจากสถานการณ์โลกคาดว่า ใน 30 ปีข้างหน้าเชื่อว่าครึ่งหนึ่งของมูลค่ายาในประเทศเป็นยามะเร็ง เพราะเป็นสังคมสูงอายุสมบูรณ์แบบ ซึ่งมีโอกาสป่วยและเป็นมะเร็งมากขึ้น แต่ปัจจุบันประเทศไทยยังไม่มีศักยภาพในการผลิตยามะเร็งเอง ดังนั้นตั้งเป้า 5 ปี จะมียามะเร็งในราคาสมเหตุสมผล ถูกลงกว่าเดิม โดยในระยะแรกอาจจะเป็นการซื้อมา ขายไปก่อน และระหว่างนี้ก็จะร่วมกันพัฒนา การถ่ายทอดเทคโนโลยี ล่าสุด จึงเกิดความร่วมมือกับทางบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นโครงการวิจัยพัฒนาและก่อสร้างโรงงาน ในบริเวณนิคมอุตสาหกรรมเอเชีย ต.บ้านฉาง อ.บ้านฉาง จ.ระยอง ในส่วนของนิเวศอุตสาหกรรมวนารมย์ของทางปตท. (WEcoZI ) จำนวน 100 ไร่ ซึ่งทาง อภ.จะขอเช่าที่กับทาง ปตท.ในการผลิตยามะเร็ง

“ความร่วมมือครั้งนี้จะทำให้ราคายาลดลง 50% ผู้ป่วยเข้าถึงยาได้มากขึ้น ทำให้ประเทศไทยมีความมั่นคงด้านยา ซึ่งเราจะมุ่งเน้นผลิตยารักษามะเร็งทุกกลุ่ม แต่หลักๆ เบื้องต้นจะเน้นที่พบบ่อยในไทย คือ เพศหญิง มะเร็งเต้านม มะเร็งปากมดลูก ส่วนเพศชาย มะเร็งปอด มะเร็งตับ และมะเร็งต่อมลูกหมาก ซึ่งแม้โครงการดังกล่าวอาจใช้เวลาในการสร้างโรงงาน แต่ระหว่างนี้ก็จะมีการวิจัยและพัฒนา และระยะสั้นใน 2 ปี ทาง อภ.ก็จะมีการนำเข้าเพื่อจำหน่ายและแบ่งบรรจุภัณฑ์ ซึ่งผู้ป่วยไทยจะได้ประโยชน์สามารถเข้าถึงการรักษามากขึ้น” นพ.นพพร กล่าว

ภก.จักกฤษณ์ ประไพพิทยาคุณ รอง ผอ.อภ. กล่าวว่า โครงการวิจัยพัฒนาและก่อสร้างโรงงานผลิตยามะเร็ง จะผลิตยาใน 2 กลุ่ม คือ 1.กลุ่มยามะเร็ง ที่เป็นยาเคมีบำบัดชนิดเม็ดและฉีด หรือกลุ่มคีโม ซึ่งเป็นยาพื้นฐานในการรักษาโรคมะเร็งที่ออกฤทธิ์ทั่วร่างกาย และ 2.กลุ่มยามะเร็งรักษาแบบจำเพาะเจาะจงต่อเซลล์มะเร็ง ทั้งชนิดเม็ดและยาฉีดชีววัตถุ คล้ายคลึงประเภท Monoclonal antibodies (Biosimilar) สำหรับแผนการดำเนินงาน แบ่งเป็น 3 ระยะ ประกอบด้วย ระยะที่ 1 นำเข้าเพื่อจำหน่าย และแบ่งบรรจุผลิตภัณฑ์ ภายใน 2-4 ปี ควบคู่กันไปกับการวิจัย และพัฒนายา ระยะที่ 2 การก่อสร้างโรงงาน ซึ่งจะใช้เวลา 4-5 ปี และระยะที่ 3 ดำเนินการผลิตเพื่อจำหน่ายด้วยตนเอง ซึ่งทั้งหมดจะใช้เวลาประมาณ 8 ปี คาดว่าจะสามารถผลิตในระดับอุตสาหกรรมเพื่อจำหน่ายได้ในปี 2568

14 February 2561

ที่มา ผู้จัดการ ออนไลน์

Posted By STY_Lib

Views, 617

 

Preset Colors