02 149 5555 ถึง 60

 

สอนลูก... และสอนพ่อแม่ของลูก (ด้วย)

สอนลูก... และสอนพ่อแม่ของลูก (ด้วย)

แชร์ไปยัง facebook แชร์ไปยัง twitter Share on Google+ LINE it!

สอนลูก... และสอนพ่อแม่ของลูก (ด้วย)

มากไปกว่าความเศร้าและความหดหู่สะเทือนใจทุกครั้งที่ได้ยินข่าวการล่วงละเมิดในเด็กเยาวชน โดยเฉพาะเมื่อผู้กระทำเป็นครูบาอาจารย์ หรือบางครั้งก็เป็น “ผอ.โรงเรียน” นั่นหมายความว่า ถึงเวลาแล้วหรือไม่ที่เราต้องทำอะไรมากกว่านี้ เพื่อป้องกันเด็กเยาวชนของเรา ต้องมีมาตรการที่ดีและเข้มงวดกว่านี้หรือไม่ เพื่อคัดกรองคนแย่ๆ ไม่ให้เข้าถึงเด็กเยาวชน

สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เมื่อเร็วๆ นี้ ได้จัดทำโครงการ “สิ่งเล็กๆ ที่สร้างลูก” เครื่องมือดูแลลูกยุคใหม่ ที่สร้างความเชื่อมั่นและกระตุ้นให้ผู้ปกครองเห็นความสำคัญในการส่งเสริมพัฒนาการและการเรียนรู้ให้แก่เด็กจากเรื่องใกล้ตัวที่ทำได้ง่าย

เพ็ญพรรณ จิตตะเสนีย์ ผู้เชี่ยวชาญพิเศษ ด้านเด็กเยาวชนและครอบครัว สสส.เล่าว่า โครงการฯ คือการสอนพ่อแม่ให้เลี้ยงลูกตามหลักพัฒนาการเด็ก นั่นหมายถึง จะสอนลูกก็ต้องสอนพ่อแม่ของลูกก่อน หลายกรณีที่เกิดขึ้นในสังคมของเราเวลานี้ สะท้อนให้เห็นว่า สภาพแวดล้อมโดยทั่วไป คนในสังคมไม่ได้ทำหน้าที่ตามบทบาทของตัว

“ถ้าเป็นเด็ก ก็มีหน้าที่เรียนรู้พัฒนาตัวเอง เมื่อเป็นครู ก็ต้องเป็นครูที่ดี ให้ความรู้แก่ศิษย์ มีคุณธรรมจริยธรรม หรือถ้าเป็นแม่เป็นพ่อ ก็ต้องทำหน้าที่บทบาทของการเป็นผู้ปกครองที่ดี เด็กมีโอกาสเคว้งคว้างหรือแก้ปัญหาด้วยตัวเอง ถ้าคนรอบตัวของเขาไม่ทำหน้าที่”

ดร.วรนาท รักสกุลไทย ผู้เชี่ยวชาญทางการศึกษาปฐมวัย สสส. เล่าว่า การทำให้คนทำหน้าที่ของตัวเอง จุดประกาย สสส.ให้คิดโครงการสอนพ่อแม่เลี้ยงลูก การทดสอบสติปัญญาอารมณ์ของเด็กปฐมวัยทั่วประเทศครั้งล่าสุดยังสะท้อนว่า จะเสี่ยงเกินไปถ้าไม่เริ่ม อย่างน้อยก็ช่วยให้พ่อแม่มีหลักยึด อย่างน้อยเด็กไม่เติบโตขึ้นเป็นวัยรุ่นมีปัญหา ไม่เป็นพ่อแม่สร้างปัญหา

“ต้นทุนชีวิตคือการลงทุนด้านพัฒนาการของเด็กปฐมวัย โดยการติดตามผลพัฒนาการเด็กปฐมวัยทั่วประเ

ดร.วรนาทเล่าอีกว่า สมองของมนุษย์จะพัฒนาต่อเนื่องกระทั่งอายุ 25 ปี การพัฒนาเด็กเยาวชนจึงต้องพัฒนาต่อเนื่องและสม่ำเสมอ เด็กเยาวชนในบ้านเราขาดทักษะการใช้ชีวิต ขาดทักษะการเอาตัวรอด ขาดทักษะการปฏิเสธสิ่งยั่วยุ บกพร่องในกระบวนการแก้ปัญหา บกพร่องเรื่องความรับผิดชอบ ทักษะการใช้ชีวิตเหล่านี้ต้องเสริมสร้างตั้งแต่ปฐมวัย

นอกจากนี้ เมื่อเด็กโตขึ้น ก็ต้องรักษาและเสริมสร้างต่อเนื่อง ซึ่งทักษะต่างๆ โดยเฉพาะทักษะเรื่องการตระหนักรู้และเท่าทัน ไม่ควรเน้นแต่ด้านวิชาการเพียงอย่างเดียว เพราะจะกลายเป็นเด็กที่เอาตัวไม่รอด แก้ปัญหาไม่เป็น คิดไม่เป็น สรุปว่ายุทธศาสตร์ต้องเริ่มตั้งแต่ปฐมวัยเล็งเห็นความสำคัญก่อนที่จะสาย

เบญจพร ตันตสูติ จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น หมอมินบานเย็น เพจเข็นเด็กขึ้นภูเขา แสดงความเห็นถึงการเลี้ยงดูเมื่อเด็กก้าวสู่วัยรุ่นว่า วัยรุ่นเป็นวัยที่เด็กพัฒนาความเป็นตัวของตัวเองอย่างเหมาะสม พึ่งพาตัวเองได้ ค่อยๆ แยกออกจากการพึ่งพาพ่อแม่ พร้อมที่จะเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่ต้องรับผิดชอบทั้งตัวเอง คนรอบข้าง รวมถึงสังคม ประเทศชาติ

หากในช่วงที่เด็กเข้าวัยรุ่นนี้เอง ที่อาจจะสร้างความเครียดความไม่เข้าใจกันระหว่างเด็กและพ่อแม่ ช่วงรอยต่อสู่ความเป็นผู้ใหญ่ที่เรียกว่า วัยรุ่น จึงนับว่าเป็นช่วงที่วุ่นวาย ปวดหัว สำหรับพ่อแม่ ภาษาอังกฤษจะเรียกช่วงการเปลี่ยนผ่านของวัยนี้ว่า Adolescent turmoil หรือความวุ่นวายสับสนของวัยรุ่น

พ่อแม่จะสังเกตว่า ลูกเริ่มติดเพื่อนมากขึ้น คุยโทรศัพท์กับเพื่อนนานๆ สนใจเรื่องภาพลักษณ์ การแต่งตัว รูปร่างหน้าตามากกว่าเดิม กังวลกับความคิดความรู้สึกของเพื่อนที่มีต่อตัวเอง อยากเป็นที่นิยมชมชอบของเพื่อน

บางทีถ้าเพื่อนไม่ชอบ ไม่พอใจตัวเอง ก็จะเก็บเอามาคิดมาเครียด พ่อแม่ก็ไม่เข้าใจว่าเพราะอะไรลูกถึงต้องแคร์เพื่อนขนาดนั้น ลูกๆ อาจมีความชื่นชมหลงใหล ดารานักร้อง นักกีฬา รุ่นพี่ที่มีชื่อเสียงในโรงเรียน มีการเลียนแบบ ทำตามการเปลี่ยนผ่านนี้ หรือ Adolescent turmoil ไม่ใช่ความผิดปกติทางจิตเวช แต่เป็นพัฒนาการที่ปกติของวัยรุ่น ซึ่งครอบครัวต้องจับมือกันเดินข้ามผ่านไป การเตรียมตัวตั้งแต่เนิ่นๆ เมื่อเค้ายังเป็นเด็กๆ มีความสำคัญที่จะลดความสับสนและขัดแย้งที่จะเกิดขึ้น

1.การเตรียมตัวอย่างแรกคือ พ่อแม่ต้องสร้างบรรยากาศที่ดีของบ้าน ให้อบอุ่นและน่าอยู่ คงไม่มีใครอยากกลับมาที่บ้านที่มีการทะเลาะเบาะแว้ง ทุกคนอยากอยู่ในที่ที่ทำให้รู้สึกปลอดภัย สงบ บ้านควรมีบรรยากาศของความไว้เนื้อเชื่อใจกันและกัน ให้เกียรติตามสมควร และมีความจริงใจต่อกัน

2.อย่าตีกรอบจนเกินไป พ่อแม่ควรให้โอกาสลูกในการแสดงออกเป็นตัวของตัวเองอย่างเหมาะสมตามวัย และสนับสนุนการแสดงออกที่สร้างสรรค์ อย่ามองว่าเวลาที่เด็กแสดงความเห็นคือการเถียง ไม่เชื่อฟัง ควรรับฟังเหตุผลของเด็ก แต่ก็ต้องมีระเบียบวินัยที่เป็นหลักที่เด็กต้องทำตาม

3.ต้องมีเวลาที่จะรับฟังเด็ก มีเวลาที่อยู่กับเด็กเพียงพอ ให้ความเข้าใจความต้องการ ความรู้สึก จะทำให้เด็กรับรู้ว่าพ่อแม่เข้าใจเขา และเวลามีเรื่องอะไรก็ตาม เด็กจะสบายใจที่จะเล่าให้พ่อแม่ฟัง

4.อย่าลืมปลูกฝังให้เด็กได้ช่วยเหลือตัวเอง มีหน้าที่รับผิดชอบตามวัยที่ทำได้ เช่น งานบ้านบางอย่าง

5.ถ้าเด็กทำอะไรไป ต้องเรียนรู้ที่จะรับผิดชอบสิ่งที่ทำ เช่น ทำผิดต้องถูกทำโทษ เรียนผูกต้องเรียนแก้ ตรงนี้จะทำให้เด็กรู้จักรับผิดชอบ เมื่อโตขึ้นเวลาทำอะไรก็จะรู้ว่าต้องรับผิดชอบการกระทำของตัวเอง ไม่ใช่ว่าอยากทำอะไรก็ทำ รู้จักคิดก่อนทำอะไร

6.พยายามทำความรู้จักเพื่อนของลูกหรือสิ่งที่ลูกชอบ จะทำให้ลูกรู้สึกว่าพ่อแม่เข้าใจเขา และหากเราจะชี้แนะหรือตักเตือนว่าสิ่งที่เขาชอบบางอย่างนั้นอาจส่งผลเสียกับเขาได้เราก็ค่อยๆ เข้าไปตักเตือน การผลีผลามเข้าไปว่ากล่าวหรือใช้คำพูดรุนแรงจะยิ่งทำให้เด็กพยายามปิดบังในสิ่งที่เขากำลังทำอยู่ไม่ให้พ่อแม่รู้

หมอมินบานเย็นระบุว่า การที่จะปล่อยให้เด็กทำอะไร ต้องปล่อยอย่างมีขอบเขต ตรงนี้สำคัญมาก เพราะหากฝึกเมื่อเขาโตแล้ว จะยากมาก ตอนนั้นส่วนใหญ่ก็จะไม่เชื่อฟัง ทำให้ทะเลาะกัน เข้าสู่วัยรุ่นอย่างวุ่นวายอลวน สับสนอลหม่าน

“ถ้าพ่อแม่สามารถทำความเข้าใจกับการเข้าสู่วัยรุ่นของลูก และสามารถป้องกันและจัดการได้อย่างเหมาะสม การเปลี่ยนผ่านนี้จะไม่มีปัญหามากนัก”

พ่อแม่ทุกคนมีหน้าที่ นั่นคือ การเตรียมตัวลูกให้พร้อมที่จะโตเป็นผู้ใหญ่ การเตรียมตัวลูกให้พร้อมที่จะต้องรับผิดชอบตัวเองและคนรอบข้าง เพราะในวันหนึ่ง เราคนเป็นพ่อเป็นแม่ก็จะต้องจากโลกนี้ไป...มาทำหน้าที่ของตัวเองกันเถอะ!

สิ่งเล็กๆ ที่สร้างลูก

พญ.จิราภรณ์ อรุณากูร กุมารแพทย์เวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล เล่าว่า พัฒนาการที่ดีเริ่มต้นจากพ่อแม่ผู้ปกครอง ลูกจะมีพัฒนาการดีไม่จำเป็นต้องลงทุนด้วยเงินจำนวนมากหรือมีเวลามาก หากจุดเริ่มต้นคือสิ่งเล็กๆ ใกล้ๆ ตัวในชีวิตประจำวัน ความรักความเอาใจใส่ รวมทั้งความสม่ำเสมอ

การเล่นที่เสริมสร้างพัฒนาการของลูกได้ ยกตัวอย่างการเล่นจ๊ะเอ๋ ที่แฝงความมหัศจรรย์ ช่วยให้สมองและพัฒนาการของเด็กในหลายด้านถูกกระตุ้น เช่น ช่วยให้เด็กเรียนรู้เรื่องการคงอยู่ของวัตถุ (Object Permanance) การที่ผู้ใหญ่ปิดตาหรือซ่อนแอบอยู่ที่ด้านหลังของมือ ช่วยกระตุ้นพัฒนาการด้านการสื่อสารระหว่างกัน ฝึกการจดจำข้อมูล เด็กจะรู้จักการรอคอย เกิดเป็นความสัมพันธ์ความผูกพันในหัวใจลูก

5 เครื่องมือที่ช่วยส่งเสริมพัฒนาการลูกของ สสส. ประกอบด้วย

1.คู่มือสิ่งเล็กๆ ที่สร้างลูก คู่มือพัฒนาลูกจากสิ่งใกล้ตัว

2.นิทานจ๊ะเอ๋

3.คู่มือส่งเสริมพัฒนาการเด็กปฐมวัยและโปสเตอร์เฝ้าระวัง

4.ห้องเรียนพ่อแม่ ห้องเรียนสัญจร 4 ภาค

และ 5.สื่อรณรงค์ ทั้งหมดกระจายสู่ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กและเครือข่ายด้านเด็กทั่วประเทศ

8 February 2561

ที่มา โพสต์ทูเดย์

Posted By sty_lib

Views, 902

 

Preset Colors