02 149 5555 ถึง 60

 

เพิ่มคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุ

เพิ่มคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุ

วันนี้มาคุยเรื่องคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุกันซักหน่อย มีบางประเทศเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุไปแล้ว ขณะที่หลายประเทศกำลังเจอปัญหาก็ได้เตรียมแผนรับมือไว้ล่วงหน้า สำหรับประเทศไทยปัจจุบันมีผู้สูงอายุ 11 ล้านคน คาดการณ์ว่าในปี 2564 จะเป็นสังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ (Complete Aged Society) ซึ่งจะมีผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไปถึง 20% ของจำนวนประชากร และในปี 2574 จะมีผู้สูงอายุถึง 28% ถึงแม้ตอนนี้เรายังไม่มีแผนรับมือระยะยาว แต่หลายหน่วยงานเริ่มตื่นตัวต่อปัญหานี้มากขึ้น

สัปดาห์ก่อนเพิ่งมี การประชุมขับเคลื่อนนโยบายการดำเนินงานด้านผู้สูงอายุ ครั้งที่ 1/2561 มี พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกรัฐมนตรีด้านสังคม นั่งหัวโต๊ะเป็นประธาน ที่ประชุมได้ให้ความเห็นชอบ 2 เรื่องคือ การเพิ่มประสิทธิภาพโครงการบริจาคเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุเข้ากองทุนผู้สูงอายุ และ การเตรียมมาตรการรองรับ สังคมผู้สูงอายุ

ในเรื่องการเพิ่มประสิทธิภาพโครงการบริจาคเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ได้กำหนดให้ผู้บริจาคเข้ากองทุนผู้สูงอายุตั้งแต่ 1 เดือนขึ้นไปมีสิทธิได้รับเหรียญเชิดชูเกียรติ รวมทั้งให้มีการเพิ่มช่องทางการบริจาค และให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งประชาสัมพันธ์เชิญชวนให้มีผู้บริจาคเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุมากขึ้น

ส่วนการเตรียมมาตรการรองรับสังคมผู้สูงอายุ พล.อ.ฉัตรชัยเผยว่า จะยึดหลักคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุ 5 ด้าน ได้แก่ 1.สุขภาพกายและสุขภาพจิต 2.ครอบครัวมีสุข 3.สังคมเอื้ออาทร 4.สิ่งแวดล้อมเหมาะสมปลอดภัย 5.หลักประกันมั่นคง ซึ่งต้องมองเป็นระบบตั้งแต่ก่อนเข้าสู่วัยผู้สูงอายุ มีความร่วมมือกันทั้งภาครัฐและเอกชน จึงต้องหารือมาตรการสร้างแรงจูงใจให้ภาคเอกชนเข้ามาดำเนินการเพื่อรองรับสังคมผู้สูงอายุ เช่นลดต้นทุนและปัจจัยการผลิตในช่วงแรก การให้กู้ยืมเงินในอัตราดอกเบี้ยต่ำ การลดหย่อนค่าสาธารณูปโภค ลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคล รวมทั้งหารือมาตรการรองรับอื่นๆ อาทิ ด้านมาตรฐานสถานดูแลผู้สูงอายุ โดยได้มอบงานให้ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องไปดำเนินการ

เท่าที่ผมได้ยินข้อมูลมา ทีมงานของ พล.อ.ฉัตรชัยได้เตรียม โครงการนำร่องดูแลผู้สูงอายุ ไว้แล้ว ภายใต้กรอบแนวคิด ทำให้ผู้สูงอายุในวัยหลังเกษียณ 60 ปีขึ้นไปอยู่ในสังคมได้โดยไม่เป็นภาระกับลูกหลาน สามารถใช้ชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข โดยภาครัฐจะไม่ทอดทิ้ง ให้เดียวดายหรืออยู่อย่างว้าเหว่

กรอบที่วางไว้คือผู้สูงอายุจะต้องมี สุขภาพดี จะมีการตรวจสุขภาพฟรีทุกปี รวมถึง หารายได้ ให้ผู้สูงอายุที่ยังทำงานไหว เพราะการแพทย์สมัยใหม่ถือว่าในวัยเกษียณ 60 ปียังไม่หมดสภาพการทำงานโดยสิ้นเชิง จึงสามารถนำความรู้หรือประสบการณ์มาสอนคนรุ่นหลังได้ เช่น เป็นอาจารย์พิเศษ วิทยากร ผู้เชี่ยวชาญ

สำหรับผู้สูงอายุที่ใช้แรงงานก็จะ หางานที่เหมาะสม เช่นงานในโครงการประชารัฐ หรือเป็นอาสาสมัครในโรงพยาบาลคอยช่วยเหลือแนะนำผู้ป่วยที่มาโรงพยาบาลว่าต้องทำตามขั้นตอนอย่างไร ซึ่งเป็นงานที่ไม่ลำบากและเหมาะสมกับผู้สูงอายุให้มีกิจกรรมทำ หลายประเทศทั้งในภาครัฐและบริษัทเอกชนก็ใช้แนวทางนี้ เช่นจ้างผู้สูงอายุเป็นพนักงานทำความสะอาด หรือเป็นพนักงานรักษาความปลอดภัย (โดยเฉพาะประเทศที่มีอาชญากรรมน้อยและไม่รุนแรง)

ส่วนผู้สูงอายุในต่างจังหวัดจะมีโครงการ ปราชญ์กล้าคนเก่ง ให้ผู้สูงอายุที่มีความชำนาญด้านต่างๆคอยให้คำแนะนำแก่ชาวบ้านในหมู่บ้าน เพื่อไม่ให้ภูมิปัญญาวิถีไทยสูญหายไปจากท้องถิ่น ส่วนผู้สูงอายุ อื่นๆก็มีโครงการ โรงเรียนผู้สูงอายุ ให้ทุกคนได้มีกิจกรรมร่วมกันสร้างความสัมพันธ์ให้รู้สึกว่ายังมีเพื่อนวัยเดียวกันทำกิจกรรมร่วมกัน

โครงการนี้อาจถูกมองว่าเป็นการอัดงบซื้อใจเตรียมเลือกตั้ง แต่ในเมื่อชาวบ้านได้ประโยชน์ ผู้สูงอายุมีคุณภาพชีวิตดีขึ้น ก็ขอให้เดินเครื่องลุยไปเลยครับ

6 February 2561

ที่มา ไทยรัฐ

Posted By sty_lib

Views, 595

 

Preset Colors