02 149 5555 ถึง 60

 

วางแผนสู้ วัยทอง สาวใหญ่-หนุ่มใหญ่เตรียมพร้อม-รับมือ-รู้ทันใช้ชีวิตชิวๆ

วางแผนสู้'วัยทอง' สาวใหญ่-หนุ่มใหญ่เตรียมพร้อม-รับมือ-รู้ทันใช้ชีวิตชิวๆ

วันพุธ ที่ 31 มกราคม พ.ศ. 2561, 10.44 น.

โรงพยาบาลราชวิถี กรมการแพทย์ชี้วัยทองการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ เพียงรู้เท่าทันและรับมืออย่างถูกวิธีช่วยลดโอกาสเสี่ยงปัญหาสุขภาพและเพิ่มคุณภาพชีวิตได้

31 ม.ค.61 นายแพทย์ณรงค์ อภิกุลวณิช รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า วัยทองเป็นภาวะที่สตรีเข้าสู่วัยหมดประจำเดือน มักพบในช่วงอายุระหว่าง 45 -50 ปี ส่งผลให้เกิดความเปลี่ยนแปลงทั้งทางด้านอารมณ์และร่างกาย โดยเมื่อเข้าสู่วัยทอง ร่างกายจะมีการเปลี่ยนแปลงเสมือนเป็นสัญญาณแจ้งเตือนล่วงหน้า คือ ประจำเดือนเริ่มมาคลาดเคลื่อน หรือมากะปริบกะปรอย และประจำเดือนอาจหายขาดไปกว่า 1 ปี ก่อนจะหมดประจำเดือนอย่างถาวร หลังจากที่ผู้หญิงเข้าสู่วัยทองหรือวัยหมดประจำเดือนแล้วจะเริ่มมีอาการต่าง ๆ ที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของร่างกาย เช่น ไม่มีประจำเดือน ร้อนวูบวาบ ไม่สบายตัว มีเหงื่อออกในตอนกลางคืน มีปัญหาเรื่องการนอน นอนน้อย นอนไม่หลับ ผิวแห้ง หนังศีรษะบาง ผมร่วง อ้วนขึ้น ระบบเผาผลาญในร่างกายทำงานได้น้อยลง ไม่มีสมาธิ อารมณ์แปรปรวน และหงุดหงิดง่าย โดยสาเหตุเกิดจากรังไข่ไม่มีการตกไข่ ทำให้ไม่มีการผลิตฮอร์โมนเพศอย่างเอสโตรเจนและโปรเจสเตอโรนอีกต่อไป

นายแพทย์มานัส โพธาภรณ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลราชวิถี กรมการแพทย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า สาเหตุของวัยทองเกิดจากหลายปัจจัย ได้แก่ การเกิดขึ้นตามธรรมชาติ เมื่อผู้หญิงมีอายุมากขึ้น สภาพร่างกายย่อมเกิดการเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะร่างกายที่กำลังเข้าสู่วัยชรา ระบบต่างๆ ภายในร่างกายย่อมทำงานเสื่อมประสิทธิภาพลง เกิดจากการเจ็บป่วยหรือความผิดปกติของรังไข่ อาจส่งผลต่อการไม่มีประจำเดือน รวมไปถึงการผ่าตัดรักษา เช่น การผ่าตัดเอารังไข่ทั้งสองข้างออกไป ทำให้เข้าสู่ภาวะหมดประจำเดือน และเกิดจากการรักษาทางการแพทย์ เช่น การทำเคมีบำบัด (Chemotherapy) ที่ใช้ในผู้ป่วยโรคมะเร็ง เพราะนอกจากการรักษาจะส่งผลต่อเซลล์มะเร็งแล้ว ยังส่งผลต่อเซลล์ต่างๆ ของร่างกายที่มีการเจริญเติบโต ในบางครั้งการหมดประจำเดือนจึงเป็นผลข้างเคียงจากการทำเคมีบำบัดด้วยเช่นกัน

สำหรับแนวทางการดูแลตัวเองในช่วงวัยทอง ควรเลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ลดการรับประทานอาหารหวาน มัน เค็ม เพื่อหลีกเลี่ยงการเกิดโรคความดันโลหิตสูง เบาหวาน ควบคุมการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ชา กาแฟ และน้ำอัดลม งดสูบบุหรี่ ควรออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอร่วมกับการทำสมาธิ พักผ่อนให้เพียงพอเพื่อรักษาอารมณ์ให้เป็นปกติ และหมั่นตรวจสุขภาพเป็นประจำ หากมีอาการผิดปกติควรพบแพทย์เพื่อปรึกษาอาการและรับการรักษาต่อไป

2 February 2561

ที่มา แนวหน้า

Posted By STY_Lib

Views, 1760

 

Preset Colors