02 149 5555 ถึง 60

 

ปวดเมื่อย ไข้ต่ำๆ น้ำหนักลด ระวัง! วัณโรคกระดูก

ปวดเมื่อย ไข้ต่ำๆ น้ำหนักลด ระวัง! วัณโรคกระดูก

วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2561 - 16:57 น.

เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยว่า คนไทยยังไม่คุ้นเคยกับคำว่า “วัณโรคกระดูก” ทั้งๆ ที่เป็นอีกโรคที่พบบ่อยในคนไทย และสามารถถ่ายทอดไปยังผู้อื่นได้ จากการสูดเอาละอองเสมหะของผู้ป่วยวัณโรคที่ไอ จาม หรือหายใจรด หรืออาจติดต่อได้จากการรับประทานอาหาร และสัมผัสภาชนะใส่อาหารที่มีเชื้อวัณโรคปนเปื้อน

นพ.สมศักดิ์ กล่าวว่า วัณโรคกระดูกเกิดจากการได้รับเชื้อแบคทีเรียเข้าสู่ร่างกายทางปอด เมื่อปอดติดเชื้อ จะทำให้เกิดโรค เชื้อดังกล่าวจะซึมผ่านกระแสเลือดแล้วลุกลามเข้าทำลายอวัยวะส่วนอื่นๆ เช่น ต่อมน้ำเหลือง สมอง ไต กระดูก ฯลฯ เมื่อเข้าทำลายกระดูกจึงเรียกว่า วัณโรคกระดูก โดยเชื้อจะทำให้กระดูกยุบตัว หลังโก่งงอ มีหนองหรือเศษกระดูก หมอนรองกระดูกเคลื่อน และเมื่อเข้าสู่ไขสันหลังจะเกิดการกดทับประสาทที่ไขสันหลัง ทำให้เป็นอัมพาตที่ขาได้

“สำหรับอาการนั้น ในช่วง 1-2 สัปดาห์แรก จะปวดเมื่อยตามตัว กระทั่งผ่านไป 1 เดือน อาการปวดจะชัดเจนขึ้น อาจมีไข้ต่ำๆ ในตอนเย็น ร่วมกับเบื่ออาหาร น้ำหนักลด อาจคิดว่าเป็นอาการปวดหลังธรรมดา หากปล่อยไว้นานจะทำให้กระดูกสันหลังโก่งงอ เพราะเชื้อไปทำลายกระดูก หากมีการกดทับระบบประสาท จะทำให้ขาชา อุจจาระ ปัสสาวะลำบาก ต่อมน้ำเหลืองโต เดินกะเผลก ซึ่งตำแหน่งที่พบบ่อย ได้แก่ ข้อสันหลัง ข้อต่อสะโพก ข้อเข่า ข้อไหล่ ข้อมือ กระดูกสันหลังส่วนเอว” นพ.สมศักดิ์ กล่าว

นพ.สมพงษ์ ตันจริยภรณ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลเลิดสิน กล่าวว่า หากปวดหลังไม่ควรทิ้งไว้นาน ควรพบแพทย์เพื่อรับการตรวจรักษาโดยเร็ว ซึ่งการวินิจฉัย ไก้แก่ ตรวจทางรังสี เพื่อดูสภาพกระดูก ตรวจซีทีสแกน หรือ เอ็มอาร์ไอ เพื่อดูว่ามีหนองและการทำลายกระดูกสันหลังหรือไม่ สำหรับการรักษาคือ ให้ยาต้านวัณโรคกระดูกและข้อในรายที่มีอาการไม่มาก แต่ต้องกินยาต่อเนื่อง แต่ในกรณีที่เป็นมากต้องผ่าตัดรักษา วิธีป้องกันตนเองให้ห่างไกลจากวัณโรคกระดูก คือ รักษาสุขภาพให้แข็งแรงเสมอ ออกกำลังกายเป็นประจำเพื่อให้ภูมิคุ้มกันแข็งแรง พยายามอยู่ในที่ปลอดโปร่ง หายใจสะดวก หากไอหรือจามควรใช้ผ้าหรือกระดาษปิดปาก เพื่อไม่ให้เชื้อโรคแพร่กระจาย และทิ้งกระดาษลงในถังขยะที่มีฝาปิดให้เรียบร้อย ที่สำคัญควรตรวจสุขภาพเป็นประจำทุกปี

2 February 2561

ที่มา มติชนรายวัน

Posted By STY_Lib

Views, 9143

 

Preset Colors