02 149 5555 ถึง 60

 

ศูนย์บริการสาธารณสุข 60 ต้นแบบดูแลสว.ในเมืองใหญ่

ศูนย์บริการสาธารณสุข 60 ต้นแบบดูแลสว.ในเมืองใหญ่

ศูนย์บริการสาธารณสุข 60 กทม.จับมือ สปสช. ดูแลผู้สูงอายุภาวะพึ่งพิงในเขตเมืองใหญ่ เผย 1 ปีขยายดูแลผู้สูงอายุภาวะพึ่งพิงสู่ 1.2 พันคน เน้นสร้างความร่วมมือเครือข่ายบริการและสหวิชาชีพ ดูแลที่บ้านแบบองค์รวมครอบคลุมทุกมิติ พร้อมหนุนปี 61 ขับเคลื่อนกองทุนสุขภาพท้องถิ่น กทม. ช่วยสร้างสุขภาพและป้องกันโรค ลดภาวะเจ็บป่วย

เมื่อเร็วๆ นี้ นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เยี่ยมชมการดำเนินงาน “ศูนย์บริการสาธารณสุข 60 รสสุคนธ์ มโนชญากร” เพื่อศึกษาดูงานและแลกเปลี่ยนการดำเนินงานการดูแลผู้สูงอายุที่อยู่ในภาวะพึ่งพิงที่ได้ดำเนินงานงานอย่างเป็นรูปธรรมและมีประสิทธผล เน้นการทำงานร่วมกับสหวิชาชีพและความร่วมมือภาคีเครือข่าย

นพ.ศักดิ์ชัยกล่าวว่า กทม.เป็นพื้นที่มีความแตกต่างจากจังหวัดอื่น รวมถึงกลไกบริหารจัดการสาธารณสุขในพื้นที่ เพราะด้วยความเป็นเมืองขนาดใหญ่และมีประชากรอาศัยอยู่อย่างหนาแน่น โดยมีกลุ่มประชากรหลักและประชากรแฝงจากจังหวัดต่างๆ ทั้งยังมีความหลากหลายและความแตกต่างของประชากรอย่างมาก ส่งผลให้เกิดความเหลื่อมล้ำอย่างมาก และเป็นโจทย์ใหญ่ในการบริหารจัดการด้านสุขภาพใน กทม.เพื่อให้เกิดการดูแลอย่างครอบคลุมและทั่วถึง

ทั้งนี้ ที่ผ่านมากรุงเทพมหานครมีนโยบายเพื่อมุ่งให้ กทม.เป็นเมืองน่าอยู่ ( Healthy city) เน้นการเพิ่มคุณภาพชีวิตชาว กทม.นับเป็นความท้าทายอย่างยิ่งและเป็นที่จับตามองของหลายประเทศ ในการดำเนินงานภายใต้ “กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ” เพื่อสนับสนุนนั้น ในปีที่ผ่านมาได้ริเริ่ม “กองทุนดูแลผู้สูงอายุที่อยู่ในภาวะพึ่งพิง” (Long Term Care: LTC) ในพื้นที่ กทม.เพื่อนำไปสู่การจัดระบบดูแลผู้สูงอายุที่อยู่ในภาวะพึ่งพิงรองรับการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ โดยดำเนินงานร่วมกับกรุงเทพมหานคร มีศูนย์บริการสาธารณสุข 68 แห่ง ทำหน้าที่เป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนร่วมกับหน่วยบริการในพื้นที่

นพ.ศักดิ์ชัยกล่าวว่า ศูนย์บริการสาธารณสุข 60 เป็นหนึ่งในศูนย์บริการสาธารณสุข กทม.ที่มีการดำเนินงานกองทุน LTC ที่ดี นอกจากความมุ่งมั่นและตั้งใจของทีมแพทย์และสหวิชาชีพเพื่อดูแลสุขภาพประชากรในพื้นที่แล้ว ยังเกิดจากความร่วมมือของเครือข่ายหน่วยบริการ ทั้งคลินิกชุมชนอบอุ่นและโรงพยาบาลที่ได้มีการประสานการทำงานร่วมกันอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ผู้สูงอายุที่อยู่ในภาวะพึ่งพิงเข้าถึงบริการเพิ่มขึ้นและต่อเนื่อง มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ขณะเดียวกันยังช่วยลดความแออัดของผู้ป่วยในโรงพยาบาล

ในปี 2561 นี้ กรุงเทพมหานครยังเตรียมขับเคลื่อน “กองทุนหลักประกันสุขภาพระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่” ภายหลังจากที่คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติได้อนุมัติจัดสรรงบประมาณ และกรุงเทพมหานครร่วมสมทบ ทำให้มีงบประมาณ 400 ล้านบาท เพื่อดำเนินงานมุ่งสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค เน้นการมีส่วนร่วมของประชาชนเพื่อดูแลสุขภาพตนเอง ลดการเจ็บป่วย โดยมีผู้สูงอายุเป็นหนึ่งในกลุ่มเป้าหมาย

ด้าน พญ.ดลจรัส ทิพย์มโนสิงห์ ผอ.ศูนย์บริการสาธารณสุข 60 รสสุคนธ์ มโนชญากร กล่าวว่า ศูนย์บริการสาธารณสุข 60 ฯ ในพื้นที่มีประชากรสูงอายุ 24,745 คน ในจำนวนเป็นผู้ที่มีอายุ 60-69 ปี ถึง 15,364 คน ในการดำเนินงาน LTC เป้าหมายสำคัญคือการดูแลผู้สูงอายุแบบองค์รวมและครอบคลุมทุกมิติ แก้ไขปัญหาสุขภาพอย่างเหมาะสม ลดภาวะแทรกซ้อนและความพิการ เข้าถึงบริการทางกายและใจที่มีคุณภาพและมาตรฐาน ขณะเดียวกันให้มีการจัดระบบและสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการดูแลผู้สูงอายุระยะยาว เน้นกระบวนการมีส่วนร่วมโดยทีมสหวิชาชีพ จัดระบบการพยาบาลที่บ้าน ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของเครือข่าย พร้อมจัดระบบการส่งต่อที่เชื่อมโยงระหว่างเครือข่าย

“จากกองทุน LTC ส่งผลให้ในปีนี้มีผู้สูงอายุที่อยู่ในภาวะพึ่งพิงและผู้พิการในพื้นที่ได้รับการดูแลต่อเนื่องที่บ้านเพิ่มขึ้นอย่างมาก จากปี 2558 อยู่ที่ 96 ราย ปี 2559 อยู่ที่ 194 ราย และในปี 2560 ก้าวกระโดดขึ้นไปอยู่ที่ 1,384 ราย หรือเพิ่มขึ้น 1,190 ราย ซึ่งในปี 2561 ศูนย์บริการสาธารณสุข 60 ฯ ยังมีแผนขยายการดูแลเพื่อให้ครอบคลุมผู้สูงอายุและผู้พิการที่จำเป็นต้องได้รับการดูแลเพิ่มขึ้น” พญ.ดลจรัสกล่าว.

24 January 2561

ที่มา ไทยโพสต์

Posted By sty_lib

Views, 640

 

Preset Colors