02 149 5555 ถึง 60

 

แพทย์แนะแนวทางตรวจสุขภาพไม่จำเป็นต้องทำทุกปี ไม่แนะนำเอ็กซเรย์ปอด เพราะยืนยันไม่ได้ว่าป่วย

แพทย์แนะแนวทางตรวจสุขภาพไม่จำเป็นต้องทำทุกปี ไม่แนะนำเอ็กซเรย์ปอด เพราะยืนยันไม่ได้ว่าป่วย

เมื่อวันที่ 22 มกราคม ที่โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนแวนชั่น นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) กล่าวภายหลังเปิดการประชุมนโยบายการตรวจสุขภาพและการส่งเสริมความรู้ด้านการตรวจสุขภาพที่จำเป็นและเหมาสะมกับประชาชน ว่า จากสถานการณ์ที่ประชาชนบางส่วนมีการตรวจสุขภาพมากเกินความจำเป็นหรือตรวจถี่เกินไป จนเกิดผลกระทบในทางลบต่อสุขภาพ ขณะเดียวกันประชาชนบางส่วนยังไม่ได้รับการตรวจสุขภาพที่จำเป็น เนื่องจากขาดความรู้ เข้าไม่ถึงบริการ มติสมัชขาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ 6 พ.ศ.2556 จึงขอให้ สธ. โดยกรมการแพทย์เป็นเจ้าภาพหลัก ร่วมกับแพทยสภา สภาวิชาชีพ สถาบันวิชาการ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พัฒนาแนวทางการตรวจสุขภาพที่จำเป็นและเหมาะสมสำหรับประชาชน ซึ่งขณะนี้จัดทำแล้วเสร็จ แบ่งเป็น 4 กลุ่ม ได้แก่ 1.วัยเด็กและวัยรุ่น อายุ 0-18 ปี 2.วัยทำงาน อายุ 18-60 ปี 3.วัยสูงอายุ 60 ปีขึ้นไป และ 4.กลุ่มหญิงตั้งครรภ์ เพื่อเป็นบรรทัดฐานเดียวกันในการตรวจสุขภาพของทั้ง 3 กองทุนด้านสุขภาพ ทั้งสวัสดิการข้ราชการ ประกันสังคม และหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง)

“รายการตรวจสุขภาพที่แนะนำนั้น อาศัยข้อมูลหลักฐานเชิงประจักษ์ว่ามีความจำเป็นและเหมาะสมสำหรับแต่ละกลุ่มวัย อย่างเรื่องการเอกซเรย์ปอดที่ไม่แนะนำให้คนปกติทั่วไปที่มีสุขภาพดีตรวจนั้น เพราะไม่มีความจำเป็น เนื่องจากไม่สามารถยืนยันว่าเจ็บป่วยได้ แต่จะเพิ่มและเน้นในเรื่องของการซักประวัติหรือถามคัดกรองแทน เช่น มีปัจจัยเสี่ยงไอเรื้อรัง ไอเป็นเลือด หายใจติดขัด จึงจำเป็นต้องตรวจเอกซ์เรย์ปอด เป็นต้น ทั้งนี้ ในส่วนของประกันสังคมได้นำแนวทางดังกล่าวไปใช้ในสิทธิประโยชน์ของการตรวจสุขภาพประจำปีที่เพิ่งประกาศใช้เมื่อ 1 มกราคม 2560” นพ.สมศักดิ์ กล่าว

นพ.สมศักดิ์ กล่าวว่า นอกจากนี้ การตรวจสุขภาพไม่จำเป็นต้องตรวจเป็นประจำทุกปี ในกรณีประชาชนทั่วไปที่ไม่เจ็บป่วย เน้นการตรวจตามช่วงอายุ กลุ่มวัย และอาชีพ โดยการตรวจระดับน้ำตาลในเลือด สามารถเว้นการตรวจได้ทุกๆ 3 ปี ยกเว้นอายุ 60 ปีขึ้นไป ควรตรวจทุกปี สำหรับไขมันในเลือดควรตรวจทุกๆ 5 ปี สตรีการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก สามารถตรวจทุก 3 ปี เป็นต้น

ด้าน นพ.อรรถสิทธิ์ ศรีสุบัติ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและประเมินเทคโนโลยีทางการแพทย์ กรมการแพทย์ กล่าวว่า ขอย้ำว่าแนวทางการตรวจสุขภาพที่เหมาะสมและจำเป็นดังกล่าว เป็นการแนะนำในคนปกติที่ไม่มีการป่วยและอยากรู้สุขภาพของตนเองว่ามีความเสี่ยงหรือไม่ ไม่ใช่ตรวจเพื่อค้นหาโรค ซึ่งหลักๆ จะเน้นเรื่องของการซักประวัติ สัมภาษณ์ การตรวจเลือดในห้องปฏิบัติการ โดยการเลือกรายการตรวจนั้นอาศัยหลักฐานเชิงประจักษ์แล้วว่ามีประโยชน์และมีความจำเป็นในแต่ละกลุ่มวัยจริง จึงไม่ใช่การตรวจตามความเคยชินอย่างที่เคยตรวจๆ กัน อย่างที่ไม่แนะนำให้เอกซเรย์ปอด อาจทำให้คนเข้าใจว่าเป็นการลิดรอนสิทธิหรือไม่ จริงๆ แล้วไม่ใช่ เพราะหากมีสุขภาพปกติก็ไม่แนะนำใตรวจ เนื่องจากการตรวจคัดกรองมะเร็งปอดและวัณโรคในระยะแรกเริ่มนั้น การเอกซ์เรย์ปอดไม่ได้มีความไวพอว่ามีความเสี่ยง ยกเว้นแต่ว่าซักประวัติแล้วพบว่ามีความเสี่ยง เช่น ไอเรื้อรัง ไอเป็นเลือด มีคนในครอบครัวป่วยเป็นมะเร็งปอด หรือวัณโรค แพทย์ก็จะมีดุลพินิจในการให้ตรวจ เป็นต้น ไม่ใช่ว่าห้ามไม่ให้ตรวจเลย และบางอย่างก็ไม่จำเป็นต้องตรวจทุกปี เช่น ตรวจเบาหวาน ก็ตรวจทุก 3 ปีได้ แต่หากมีความเสี่ยง เช่น พ่อแม่เป็น อายุเพิ่มขึ้น อ้วน มีการลุกขึ้นมาปัสสาวะตอนกลางคืน ก็ตรวจตามที่มีอาการ ส่วนคนที่มีอาการป่วยก็ตรวจตามขั้นตอนการรักษาของแพทย์อยู่แล้ว จึงไม่เข้าข่ายในการใช้รายการตรวจสุขภาพที่แนะนำนี้ และยืนยันว่าไม่ใช่การบังคับว่าต้องตรวจตามนี้ หากมีความจำเป็นหรือปัจจัยเสี่ยงก็สามารถตรวจเพิ่มเติมได้

นพ.อรรถสิทธิ์ กล่าวว่า สำหรับคนที่ไม่เคยตรวจสุขภาพมาก่อนเลยอาจจะมีบ้าง เนื่องจากไม่ทราบว่ามีสิทธิที่จะตรวจได้ อย่างประกันสังคมก็เพิ่งประกาศสิทธิตรวจสุขภาพเมื่อต้นปีที่ผ่านมา นอกจากนี้ คือยังไม่รู้ว่าควรตรวจอะไรบ้าง ซึ่งในคนปกติก็สามารถใช้แนวทางดังกล่าวเป็นความรู้ในการตรวจสุขภาพได้ ที่สำคัญคือรู้ว่ามีความเสี่ยงจะต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรม เช่น ออกกำลังกาย เปลี่ยนพฤติกรรมการกิน ลดการสูบหรือดื่ม เป็นต้น เพราะหากไม่เปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการตรวจสุขภาพเพื่อค้นหาความเสี่ยงก็ไม่มีประโยชน์ แต่หากเปลี่ยนพฤติกรรมก็จะสามารถยืดเวลาในการเจ็บป่วยออกไปได้

เมื่อถามถึงการตรวจสุขภาพในกลุ่มวัยทำงาน ควรตรวจตามความเสี่ยงในการประกอบอาชีพหรือไม่ นพ.อรรถสิทธิ์ กล่าวว่า ในคำแนะนำก็มีระบุไว้ว่า ในวัยทำงาก็ให้ตรวจตามความเสี่ยงของอาชีวอนามัย คือหากทำงานแล้วมีความเสี่ยงเรื่องใดก็ตรวจได้ เช่น ทำงานในที่มีฝุ่นผงมาก ก็อาจเอกซ์เรย์ปอดเพิ่มได้ หรือทำงานในที่มีเสียงดังก็อาจตรวจการได้ยินเพิ่ม แต่สำหรับพนักงานออฟฟิศทั่วไปที่มีสุขภาพปกติ ก็ใช้การตรวจที่แนะนำนี้ก็เพียงพอ

23 January 2561

ที่มา มติชนรายวัน

Posted By sty_lib

Views, 658

 

Preset Colors