02 149 5555 ถึง 60

 

"สุขภาพดีเริ่มต้นได้ด้วยปลายนิ้ว" สสส.ยกคุณภาพชีวิตคนเมือง

"สุขภาพดีเริ่มต้นได้ด้วยปลายนิ้ว" สสส.ยกคุณภาพชีวิตคนเมือง

"บางกอกน้อยโมเดล" ศิริราชจับมือ สสส.พัฒนาสุขภาพเขตเมืองต้นแบบ ปิ๊งไอเดีย "สุขภาพดีเริ่มต้นได้ด้วยปลายนิ้ว" ผ่านแอปพลิเคชั่นสำรวจข้อมูลสุขภาพชุมชน 4 มิติ เพื่อวางแผนการพัฒนาดูแลคุณภาพชีวิตคนเมือง

วันที่ 18 ม.ค. ที่เซ็นทรัลพลาซา ปิ่นเกล้า คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) แถลงข่าวเปิดตัวโครงการบางกอกน้อยโมเดล “สุขภาพดีเริ่มต้นได้ด้วยปลายนิ้ว” เพื่อพัฒนาชุมชนบางกอกน้อยให้เป็นชุมชนต้นแบบสุขภาวะเขตเมือง

ศ.นพ.ประเสริฐ อัสสันตชัย รองคณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล กล่าวว่า ในอีก 3 ปีข้างหน้า ประเทศไทยจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ โดยมีจำนวนประชากรผู้สูงอายุสูงถึง 13 ล้านคน คิดเป็น 20% ของจำนวนประชากร ระบบสาธารณสุขเป็นระบบแรกที่ควรเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงนี้ อีกทั้งสาเหตุความเจ็บป่วยส่วนใหญ่มาจากพฤติกรรมการใช้ชีวิตและสิ่งแวดล้อม การรักษาพยาบาลเพียงอย่างเดียวไม่สามารถช่วยให้ผู้สูงอายุมีคุณภาพชีวิตที่ดีได้ จึงควรคำนึงถึงความปลอดภัยในชีวิต สิ่งแวดล้อม เศรษฐศาสตร์ และสังคมด้วย คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลในฐานะสมาชิกในชุมชนบางกอกน้อย ต้องมีส่วนร่วมดูแลประชาชนที่มากกว่าการรักษาจึงร่วมกับสสส.จัดทำโครงการบางกอกน้อยโมเดล เน้นการทำงานกับภาคส่วนต่างๆ ในเขตบางกอกน้อย อาทิเช่น กรมขนส่งทหารเรือ โรงเรียน วัด ร้านค้า และชุมชนผู้อยู่อาศัยโดยการจัดทำ “ระบบฐานข้อมูลสุขภาพ” สำรวจในชุมชนบางกอกน้อย 42 ชุมชน เพื่อให้ทราบข้อมูลสุขภาพและนำข้อมูลมาออกแบบกิจกรรมที่ตอบโจทย์สุขภาพของประชาชนในพื้นที่

รศ.นพ.นริศ กิจณรงค์ รองคณบดีฝ่ายสื่อสารองค์กรและกิจกรรมเพื่อสังคม ผู้ดำเนินโครงการบางกอกน้อยโมเดล กล่าวว่า บางกอกน้อยโมเดล มีการตั้งเป้าหมายให้เป็นต้นแบบของการจัดการระบบสุขภาพเขตเมือง สิ่งสำคัญคือการทำงานบนฐานข้อมูล เน้นข้อมูลสำหรับการสร้างเสริมสุขภาพได้อย่างตรงจุดในแต่ละช่วงอายุ จึงได้มีการพัฒนาระบบฐานข้อมูลสุขภาพเพียงแค่ปลายนิ้ว ที่ออกแบบมาเพื่อให้ทุกคนสามารถกรอกตนเองได้อย่างปลอดภัย โดยการจัดทำแอปพลิเคชั่นบางกอกน้อยโมเดล (Bangkoknoi Model) และ Web-based จึงขอเชิญชวนให้ประชาชนผู้พักอาศัยหรือทำงานในเขตบางกอกน้อยเข้ามากรอกข้อมูลรายบุคคล ซึ่งจะมีการสอบถามใน 4 มิติ ได้แก่ สุขภาพ เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม พร้อมกันนี้ก็จะมี “ทีมจิตอาสา” จากนักเรียนในสถานศึกษาเขตบางกอกน้อยลงพื้นที่แนะนำระบบฐานข้อมูลและเก็บข้อมูลเชิงรุกในชุมชนควบคู่กัน ขณะนี้ได้ดำเนินจับเก็บข้อมูลได้ 60% จากตั้งเป้าหมายไว้ที่ 90,000 คน เพื่อเกิดความน่าเชื่อถือทางสถิติ จากนั้นจะมีการวางแผนกับภาคส่วนต่างๆ ในชุมชนและนำข้อมูลมาวางแผนพัฒนาระบบดูแลสุขภาพต่อไป

“ประโยชน์ของการจัดเก็บข้อมูลในรูปแบบแอพลิเคชั่นทำให้รู้ว่าใคร อยู่ที่ไหน ต้องการความช่วยเหลืออะไร และมีสิ่งแวดล้อมที่ส่งผลต่อสุขภาพอย่างไร เมื่อประชาชนกรอกข้อมูล ผลจะแสดงมาที่ศิริราชทันทีซึ่งจะเป็นประโยชน์ในการทำงาน เช่น หากมีบ้านไหนกรอกว่าเป็นไข้เลือดออก ขณะที่พื้นที่ใกล้เคียงก็พบโรคไข้เลือดออกเช่นกัน แสดงว่าพื้นที่นั้นมีการระบาดของเชื้อไข้เลือดออก เราจะส่งทีมไปแก้ปัญหา ซึ่งเป็นการป้องกันและฟื้นฟูสุขภาพเชิงรุก”รศ.นพ.นริศ กล่าว

นพ.วีระพันธ์ สุพรรณไชยมาตย์ รองประธานกองทุน สสส. กล่าวว่า ข้อมูลจากสหประชาชาติปี 2559 พบว่า ประชากรเกินกว่าครึ่งโลกที่อาศัยในเขตเมือง และเพิ่มขึ้นเป็น 66% ในปี 2593 และภาวะคุกคามประชาชนที่อาศัยในเขตเมือง 92% คือคุณภาพอากาศไม่ได้มาตรฐานขององค์การอนามัยโลก ส่งผลให้ตายก่อนวัยอันควรปีละ 3 ล้านคน การเติบโตของเมืองเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ฉะนั้น การเตรียมการระบบบริการสุขภาพสามารถดูแลคุณภาพชีวิตประชาชนในเขตเมืองให้ทันต่อความเปลี่ยนแปลงจึงต้องเร่งดำเนินการ เครื่องมือสำคัญ คือ การมีระบบสารสนเทศสุขภาพที่ดี เชื่อถือได้ และทันเวลา ประกอบกับพฤติกรรมการใช้เทคโนโลยีของประชาชนในเขตเมืองจะเอื้ออำนวยให้สามารถเข้าถึงและนำใช้ประโยชน์ “ระบบฐานข้อมูล” ที่สัมพันธ์กับปัจจัยกำหนดสุขภาพและรูปแบบกิจกรรมประเภทต่างๆ ในการดำรงชีวิตในชุมชนเขตเมืองนี้ เช่น กิจกรรมหรือโครงการเพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรมทางสุขภาพของชุมชนริมคลอง หรือผู้อาศัยในคอนโด หรือจัดสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการสร้างเสริมสุขภาพ โครงการบางกอกน้อยโมเดล “สุขภาพดีเริ่มต้นได้ด้วยปลายนิ้ว” จึงเป็นการตั้งต้นการจัดการระบบสุขภาพเชิงรุก โดยมีบุคลากรที่มีคุณภาพของโรงพยาบาลศิริราชและการทำงานร่วมกันในชุมชนบางกอกน้อย ซึ่งสามารถต่อยอดไปยังชุมชนเขตเมืองที่ต่างๆ ประเทศไทยได้

19 January 2561

ที่มา บ้านเมือง

Posted By STY_Lib

Views, 625

 

Preset Colors