02 149 5555 ถึง 60

 

ผู้วิจัย/Authors: พรพิมล ธีรนันทน์, มาเรียม เกาะประเสริฐ, ธีรพล เชื้อสุข และคณะ.

ชื่อเรื่อง/Title: การวิจัยประเมินผลโครงการศูนย์การเรียนรู้สำหรับเด็กและครอบครัว.

แหล่งที่มา/Source: การประชุมวิชาการสุขภาพจิตนานาชาติ ครั้งที่ 6, เรื่อง สุขภาพจิต : ชีวิตชาวเมือง วันที่ 1-3 สิงหาคม 2550 ณ. โรงแรมปรินซ์พาเลซ กรุงเทพมหานคร หน้า 61-63..

รายละเอียด / Details:

ความสำคัญ การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และคุณภาพชีวิต เป็นนโยบายที่สำคัญตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 9 ปี 2545-2549 มีการดำเนินการต่อเนื่องจากแผนพัฒนาฉบับที่ 8 ในด้านแนวคิดที่ยึด คนเป็นศูนย์กลางแห่งการพัฒนา ในทุกมิติอย่างเป็นองค์รวมซึ่งการยกระดับคุณภาพชีวิตประชากรแบ่งได้ 3 ระดับ คือ ระดับบุคคล ระดับครอบครัว และระดับชุมชน ในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์จำเป็นต้องทำทั้ง 3 ระดับความคู่กันไป นโยบายดังกล่าวได้ครอบคลุมทุกช่วงอายุ เด็กอายุแรกเกิด 14 ปี เป็นประชากรส่วนหนึ่งที่ได้รับการสนใจเป็นพิเศษ เนื่องจากพัฒนาง่าย ได้ผลดีในระยะยาว และเป็นทรัพยากรบุคคลที่สำคัญของสังคมเนื่องจากเป็นวัยที่ประกอบไปด้วยพลังทั้งทางร่างกาย การเรียนรู้ ความคิด การตัดสินใจและการสร้างสรรค์ นอกจากนี้ยังเป็นวัยที่สามารถพัฒนาศักยภาพได้เต็มที่ แต่ปรากฏว่ายังมีเด็กและเยาวชนบางกลุ่มที่มีปัญหาและเป็นอุปสรรคที่สำคัญต่อการพัฒนา เพราะเด็กและเยาวชนดังกล่าวไม่ได้รับการเลี้ยงดูอบรมสั่งสอนให้รู้จักผิดชอบชั่วดี เนื่องจากสภาพสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วทำให้ครอบครัวล้มเหลว ไม่สามารถเลี้ยงดูเด็ก ให้ได้รับความอบอุ่น และมีความรู้ในการดูแลและพัฒนาตนเองได้ อีกทั้งสังคมชุมชนและภาครัฐ ไม่สามารถเข้าไปคุ้มครองพิทักษ์สิทธิเด็กได้อย่างทั่วถึง จำเป็นต้องมีการร่วมมือในการจัดประสบการณ์ที่เหมาะสม ตลอดจนจัดสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการพัฒนากลุ่มประชากรวัยเด็กและเยาวชนเพื่อส่งเสริมให้เด็กเติบโตขึ้นอย่างมีศักยภาพดำเนินชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างมีคุณภาพและมีความสุข สถาบันราชานุกูล กรมสุขภาพจิต ได้เล็งเห็นความสำคัญดังกล่าว จึงได้จัดทำโครงการศูนย์การเรียนรู้สำหรับเด็กและครอบครัวนำร่องขึ้นในปีงบประมาณ 2548 ในศูนย์พัฒนาเด็กเล็กและโรงเรียนใน 3 จังหวัด คือ จังหวัดอุทัยธานี นครปฐมและชลบุรี มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ พ่อแม่/ผู้ปกครอง ครูอนุบาล/ผู้ดูแลเด็กมีความรู้ความเข้าใจและมีความตระหนักต่อการดูแลและพัฒนาเด็ก ส่งเสริมให้เด็กเป็นผู้ที่รักการเรียนรู้ โดยผ่านการเล่นและการอ่านหนังสือ ซึ่งกิจกรรมหลักประกอบด้วย การอบรมสร้างความตระหนัก ความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับการพัฒนาเด็ก สนับสนุนสื่อ-อุปกรณ์และจัดกิจกรรมเพื่อส่งเสริมการเรียนรู้และความสัมพันธ์ในครอบครัว และในปีงบประมาณ 2549 สถาบันราชานุกูล ได้จัดทำโครงการวิจัยประเมินผล โครงการศูนย์การเรียนรู้สำหรับและครอบครัวขึ้น เพื่อติดตามผลการดำเนินงานและผลลัพธ์จากโครงการศูนย์การเรียนรู้สำหรับเด็กและครอบครัว เพื่อเป็นแนวทางในการดำเนินการปรับปรุงและพัฒนาศูนย์การเรียนรู้สำหรับเด็กและครอบครัวต่อไป วัตถุประสงค์ของการวิจัย 1.เพื่อประเมินความสำเร็จการดำเนินโครงการศูนย์การเรียนรู้สำหรับเด็กและครอบครัวในด้าน 1.1ความรู้ ความเข้าใจในการดูแล เลี้ยงดูเด็กของพ่อแม่ หรือผู้ปกครองและครูอนุบาล หรือผู้ดูแลเด็ก 1.2 การส่งเสริมให้เด็กเป็นผู้ที่รักการเรียนรู้โดยผ่านการเล่นและการอ่านหนังสือ 1.3 การเป็นแหล่งเรียนรู้และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ด้านการดูแลเด็ก 2.เพื่อศึกษาผลลัพธ์จากการดำเนินโครงการศูนย์การเรียนรู้สำหรับเด็กและครอบครัวในด้าน 2.1 การใช้บริการศูนย์การเรียนรู้สำหรับเด็กและครอบครัว 2.2 ประโยชน์ที่ได้จากศูนย์การเรียนรู้สำหรับเด็กและครอบครัว 2.3 พฤติกรรมการเรียนรู้ของเด็ก 3. เพื่อศึกษาปัญหาอุปสรรคและข้อเสนอแนะอันเนื่องมาจากการดำเนินโครงการศูนย์การเรียนรู้สำหรับเด็กและครอบครัว วิธีการดำเนินการวิจัย -ระเบียบวิธีวิจัย การวิจัยประเมินผลโครงการศูนย์การเรียนรู้สำหรับเด็กและครอบครัวเป็นการวิจัยประเมินผลหลังจากโครงการสิ้นสุดลง (Post Project Evaluation) ประชากรและกลุ่มตัวอย่าง เป็น เด็กจำนวน 26 คน พ่อแม่ ผู้ปกครองจำนวน 137 คน ครูอนุบาลผู้ดูแลเด็กและแกนนำชุมชนจำนวน 21 คน ในพื้นที่ดำเนินโครงการศูนย์การเรียนรู้สำหรับเด็กและครอบครัวปีงบประมาณ 2548 จำนวน 3 แห่ง ได้แก่ ชุมชนศูนย์พัฒนาเด็กเล็กบ้านห้วยพลู จังหวัดอุทัยธานี ชุมชน โรงเรียนวัดศิลามูล จังหวัดนครปฐม และชุมชนศูนย์พัฒนาเด็กเล็กบ้านสัตตพงษ์ จังหวัดชลบุรี ซึ่งได้มาจาก การสุ่มแบบเฉพาะเจาะจงจากประชากร -เครื่องมือในการเก็บรวบรวมข้อมูลเป็นแบบสัมภาษณ์ แบบสอบถาม แบบวัดความรู้และคู่มือในการทำสนทนากลุ่ม การเก็บรวบรวมข้อมูลโดยใช้แบบสัมภาษณ์ในกลุ่มแกนนำชุมชนและผู้ดูแลเด็ก ใช้แบบสอบถามและแบบวัดความรู้ในกลุ่มพ่อแม่ผู้ปกครองและผู้ดูแลเด็กและทำสนทนากลุ่มในกลุ่มพ่อแม่ผู้ปกครองและเด็ก -การวิเคราะห์ข้อมูลโดย จำนวน ร้อยละ ค่าเฉลี่ยและการวิเคราะห์เชิงเนื้อหา สรุปผลการทำวิจัย การประเมินความสำเร็จการดำเนินการโครงการศูนย์การเรียนรู้สำหรับเด็กและครอบครัวในด้าน ความรู้ความเข้าใจในการดูแลเลี้ยงดูเด็กในเรื่องการเล่นและการอ่านหนังสือของพ่อแม่ผู้ปกครองอยู่ในระดับควรปรับปรุง ครูอนุบาลและผู้ดูแลเด็กอยู่ในระดับดีมาก การส่งเสริมให้เด็กเป็นผู้รักการเรียนรู้โดยผ่านการเล่นและการอ่านหนังสือของพ่อแม่ผู้ปกครองอยู่ในระดับปานกลาง ครูอนุบาลและผู้ดูแลเด็กอยู่ในระดับดีแต่การเป็นแหล่งเรียนรู้และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ด้านการดูแลเด็กยังไม่ประสบความสำเร็จเนื่องจากคนในชุมชนไม่รู้จักศูนย์การเรียนรู้สำหรับเด็กและครอบครัว การศึกษาผลลัพธ์จากการดำเนินโครงการศูนย์การเรียนรู้สำหรับเด็กและครอบครัวในด้านการใช้บริการศูนย์การเรียนรู้สำหรับเด็กและครอบครัวผู้ใช้บริการส่วนใหญ่เป็นเด็กที่เรียนอยู่ในโรงเรียนอนุบาลและศูนย์พัฒนาเด็กเล็กที่เป็นสถานที่ตั้งของศูนย์การเรียนรู้สำหรับเด็กและครอบครัว ใช้บริการโดยการยืมหนังสือกลับบ้าน สถิติการยืมหนังสือจากสมุดทะเบียนการใช้บริการศูนย์การเรียนรู้สำหรับเด็กและครอบครัวระหว่างเดือนมีนาคม 2548-พฤษภาคม 2549 จำนวน 1364 ครั้ง/1823 เล่ม และประโยชน์ที่ได้รับจากการใช้บริการที่ศูนย์การเรียนรู้สำหรับเด็กและครอบครัว สำหรับตัวเด็กจะได้เรียนรู้เรื่องระเบียบวินัยจากการยืมหนังสือและสำหรับครอบครัวเมื่อเด็กนำหนังสือที่ยืมกลับบ้านไปใช้ในการทำกิจกรรมร่วมกับพ่อแม่ผู้ปกครอง เช่น การเล่านิทาน การอ่านหนังสือให้เด็กฟังจะช่วยส่งเสริมให้เกิดสัมพันธภาพที่ดีในครอบครัวมากขึ้น ส่วนการเปลี่ยนแปลงด้านพฤติกรรมการเรียนรู้ของเด็กโดยผ่านการเล่นและการอ่านหนังสือพบว่าเด็กมีสมาธิกล้าแสดงออกและสนใจการเรียนมากขึ้น ปัญหาอุปสรรคและข้อเสนอแนะในการดำเนินโครงการศูนย์การเรียนรู้สำหรับเด็กและครอบครัว 1. ศูนย์การเรียนรู้สำหรับเด็กและครอบครัวที่จัดตั้งในศูนย์เด็กเล็ก/โรงเรียนอนุบาลในชุมชนไม่เป็นที่รู้จักของพ่อแม่/ผู้ปกครองเนื่องจากขาดการประชาสัมพันธ์ พ่อแม่/ผู้ปกครองจึงเข้าใจว่ากิจกรรมที่จัดในศูนย์การเรียนรู้เป็นกิจกรรมของศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก/โรงเรียนอนุบาล ข้อเสนอแนะ ให้มีการประชาสัมพันธ์ผ่านเสียงตามสายของชุมชน ครูแจ้งในที่ประชุมผู้ปกครอง 2. ภารในการประกอบอาชีพ ทำให้พ่อแม่/ผู้ปกครอง ไม่มีเวลาดูแลบุตรหลานและร่วมทำกิจกรรม 3. หนังสือและอุปกรณ์ของเด็กที่มีในศูนย์การเรียนรู้น้อย ไม่เพียงพอต่อความต้องการ เมื่อชำรุดสูญหายไม่ได้รับการสนับสนุนเพิ่มเติม ข้อเสนอแนะ ให้ผู้ที่รับดูแลศูนย์การเรียนรู้สำหรับเด็กและครอบครัว จัดทำแผนหรือจัดสรรงบประมาณสนับสนุนสื่อและอุปกรณ์ 4. เวลาที่เปิดให้บริการจะเป็นเวลาเดียวกับการดำเนินงานของศูนย์พัฒนาการเด็กเล็ก/โรงเรียนอนุบาลจึงไม่ตรงกับความต้องการของประชาชนในชุมชน ข้อเสนอแนะ เปิดช่วงเย็นและวันเสาร์ อาทิตย์ 5. ขาดผู้รับผิดชอบโดยตรงในการดำเนินงานศูนย์การเรียนรู้สำหรับเด็กและครอบครัว ทำให้การพัฒนางานในศูนย์การเรียนรู้สำหรับเด็กและครอบครัวไม่ต่อเนื่อง ข้อเสนอแนะจากการวิจัย 1. การจัดตั้งและบริหารงานศูนย์การเรียนรู้สำหรับเด็กและครอบครัว ควรผลักดันให้เป็นภารกิจขององค์การบริหารส่วนท้องถิ่น เพื่อให้ได้รับการสนับสนุนทางด้านงบประมาณ และทรัพยากรบุคคล ในการดำเนินงานศูนย์การเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง 2. ภายในศูนย์การเรียนรู้สำหรับเด็กและครอบครัวควรจัดให้มีกิจกรรมที่ส่งเสริมและสนับสนุนต่อการมาใช้บริการ เช่น กิจกรรมเล่านิทานโดยอาสาสมัคร กิจกรรมดนตรีกับการเคลื่อนไหว การออกกำลังกายในรูปแบบต่างๆ ฯลฯ เพื่อเป็นจุดดึงดูดความสนใจของคนในชุมชนให้มาใช้บริการ 3. การเปิดให้บริการของศูนย์การเรียนรู้สำหรับเด็กและครอบครัว ควรเปิดและปิดในช่วงเวลาที่คนในชุมชนสามารถเข้ารับบริการได้ 4. ศูนย์การเรียนรู้สำหรับเด็กและครอบครัว ควรจัดกิจกรรมส่งเสริมการเรียนรู้ให้กับเด็กและผู้ปกครอง เพื่อเพิ่มเติมความรู้ความเข้าใจในการดูแลเลี้ยงดูเด็กเป็นระยะ

Keywords: ศูนย์การเรียนรู้, คุณภาพชีวิต, เด็ก, ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก

ปีที่เผยแพร่/Year: 2550

Address: สถาบันราชานุกูล.

Code: 2007000124

ISSN/ISBN: 2859-497-X

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ไทย

Category: Paper ที่ได้รับคัดเลือกนำเสนอในการประชุมวิชาการสุขภาพจิตนานาชาติ ครั้งที่ 6

Download:

 

Preset Colors