02 149 5555 ถึง 60

 

ผู้วิจัย/Authors: บุญศิริ จันศิริมงคล

ชื่อเรื่อง/Title: การศึกษาภาวะสุขภาพของประชากรที่เสพพืชกระท่อม อำเภอพุนพิน จังหวัดสุราษฎร์ธานี

แหล่งที่มา/Source: การประชุมวิชาการนานาชาติ ครั้งที่ 2, สุขภาพจิตกับยาเสพติด ปี 2546, หน้า 133-134. (วันที่ 19-21 สิงหาคม 2546 ณ โรงแรมแอมบาสเดอร์ กรุงเทพมหานคร)

รายละเอียด / Details:

แม้ว่าแอมเฟตามีนและสารอนุพันธุ์จะเป็นสารเพสติดที่แพร่ระบาดอย่างมาก แต่ในความเป็นจริงแล้ว จากการสำรวจของสำนักงานป้องกันและปราบปรามยาเสพติดภาคใต้ในปี พ.ศ. 2543 พบว่าในภาคใต้ หมู่บ้านและชุมชน มีปัญหายาเสพติดร้อยละ 45 ของหมู่บ้านและชุมชน ทั้งหมดที่สำรวจ โดยมีการเสพพืชกระท่อมมากเป็นอันดับ 1 ของภาคใต้ ทั้งนี้พืชกระท่อมได้มีการใช้ในทางเสพติดมาช้านานและมีการแพร่ระบาดอย่างมาก แต่งานศึกษาวิจัยเกี่ยวกับกระท่อมมีน้อยมาก ทีมผู้วิจัยยาเสพติดของโรงพยาบาลสวนสราญรมย์ สังกัดกรมสุขภาพจิต จึงสนใจที่จะศึกษาภาวะสุขภาพของประชาชนที่เสพกระท่อม ตลอดจนการศึกษาถึงปัจจัยต่างๆ ที่มีความเกี่ยวข้องกับภาวะสุขภาพที่มีผลจากการเสพกระท่อม เพื่อเป็นข้อมูลพื้นฐานในการดำเนินงานป้องกัน ส่งเสริม และแก้ไขปัญหาสุขภาพประชาชน และเพื่อเป็นประโยชน์ในการช่วยเหลือผู้ที่เสพกระท่อมต่อไป วัตถุประสงค์ เพื่อศึกษาผลกระทบต่อร่างกายและจิตใจที่มีต่อประชากรที่เสพพืชกระท่อมเมื่อเสพและหยุดเสพ ขอบเขต ศึกษาประชากรทีเสพพืชกระท่อมและยังคงการเสพโดยวิธีการใดๆ ภายใน 1 เดือน ที่ผ่านมา และอาศัยอยู่ในเขตอำเภอพุนพิน จังหวัดสุราษฎร์ธานี ตั้งแต่ 1 มีนาคม 2546-31 พฤษภาคม 2546 รวมทั้งสิ้น 386 คน ระเบียบวิธีวิจัย เก็บข้อมูลจากแบบสัมภาษณ์ ได้แก่ ข้อมูลส่วนตัว ข้อมูลทั่วไปเกี่ยวกับการเสพแบบวัดภาวะสุขภาพซึ่งดัดแปลงมาจาก QOL,GHQ 28 ผลการวิจัย ประชากรโดยส่วนใหญ่ในการสำรวจนี้เป็นเพศชาย ร้อยละ 93.1 อายุเฉลี่ย 43 ปี ส่วนใหญ่อาชีพทำสวนยาง (ร้อยละ 38.6) ซึ่งเหตุผลที่ใช้เพราะต้องทำงานหนักกว่าร้อยละ 63 รองลงมาคือทำให้ร่างกายสดชื่น และแก้ปวดเมื่อยตามลำดับ หากไม่ได้ใช้จะไม่สู้แดด และทำงานช้า ส่วนใหญ่เสพมามากกว่า 20 ปี ใช้ใบเคี้ยวแล้วคาย และดื่มน้ำหรือกาแฟตามให้กินง่ายขึ้น ออกฤทธิ์ดีขึ้น ปริมาณการเสพใช้วันละประมาณ 20 ใบขึ้นไป โดยมากเสพตอนทำงาน และเสพต่อเนื่อง มีเพียงร้อยละ 38 ที่เคยพยายามเลิกเพราะไม่ต้องทำงานหนักและอยู่ในที่ที่หาพืชกระท่อมไม่ได้ พบว่าระยะเวลาในการเสพมีความสัมพันธ์กับอาการกระตุกของกล้ามเนื้ออย่างหนักหลังหยุดเสพ คุณภาพชีวิตของผู้เสพอยู่ในระดับปานกลาง ร้อยละ 36.6 และดีร้อยละ 63.4 ส่วนใหญ่ของประชากรในการศึกษานี้มีภาวะสุขภาพกายและจิตอยู่ในเกณฑ์ปกติ การศึกษานี้ชี้ให้เห็นว่าในกลุ่มประชากรผู้เสพกระท่อมมีวัตถุประสงค์เพื่อความเพลิดเพลินเหมือนในกลุ่มติดสารเสพติดประเภทอื่น อาการขาดยาที่สำคัญอาการกระตุกของกล้ามเนื้อ ทำให้ผู้เสพต้องเสพอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งพืชกระท่อมเป็นพืชพื้นฐานที่หาได้ง่ายตามในชนบท เราจึงพบว่ามีประชากรน้อยมากที่เคยพยายามเลิกเสพผลด้านบวกที่กระท่อมมีต่อร่างกาย และจิตใจอีกทั้งผู้เสพใช้อย่างต่อเนื่องอาจเป็นเหตุผลในการอธิบายว่าทำไมประชากรกลุ่มนี้จึงมีภาวะสุขภาพกายและจิตในเกณฑ์ปกติ รวมทั้งคุณภาพชีวิตของประชากรกลุ่มนี้ก็อยู่ในเกณฑ์ปานกลางและดีได้อีกด้วย ข้อเสนอแนะ 1. ข้อจำกัดของการศึกษานี้คือประชากรที่ศึกษาเป็นกลุ่มที่ยังคงใช้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งการเสพอย่างต่อเนื่องย่อมเป็นเหตุผลในตัวอยู่แล้วว่าผลดีของการใช้มากกว่าการเลิก 2. การศึกษาเปรียบเทียบกับกลุ่มที่หยุดเสพ และกลุ่มที่มีอาการป่วยทางจิตเวชในขณะที่เสพจะช่วยให้เข้าใจถึงผลด้านลบของกระท่อมมากขึ้น

Keywords: กระท่อม, ยาเสพติด, สารเสพติด, แอมเฟตามีน, ภาวะสุขภาพประชาชน, ผู้เสพสารเสพติด, amphetamine

ปีที่เผยแพร่/Year: 2546

Address: กลุ่มงานยาเสพติด โรงพยาบาลสวนสราญรมย์

Code: 00000041

ISSN/ISBN: -

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ภาษาไทย

Category: Paper ได้รับคัดเลือกนำเสนอในที่ประชุมวิชาการกรมสุขภาพจิต

Download: -

 

Preset Colors