02 149 5555 ถึง 60

 

ผู้วิจัย/Authors: ณัฎฐญา พัฒนะวาณิชนันท์, ปัตพงษ์ เกษสมบูรณ์

ชื่อเรื่อง/Title: การศึกษาระบาดวิทยาผู้ทำร้ายตนเอง เขตตรวจราชการที่ 3.

แหล่งที่มา/Source: การประชุมวิชาการ การป้องกันปัญหาการฆ่าตัวตาย ครั้งที่ 8 เรื่อง "เสริมสร้างชีวิต ฝ่าวิกฤตโลกร้อน" วันที่ 7-8 กรกฎาคม 2551 ณ. โรงแรมลิตเติ้ลดั๊ก จังหวัดเชียงใหม่, หน้า 195.

รายละเอียด / Details:

การวิจัยครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาสภาวะด้านสุขภาพกาย จิต สังคม เศรษฐกิจและความจำเป็นในการต้องการความช่วยเหลือของผู้ทำร้ายตนเองตลอดจนปัจจัยเสี่ยงและปัจจัยปกป้องในการทำร้ายตนเอง ในเขตตรวจราชการที่ 3 โดยเป็นการศึกษาเชิงวิเคราะห์แบบ เคส-คอนโทรล (case-control study) ศึกษาผู้ที่มารับบริการในสถานบริการสาธารณสุข ในเขตตรวจราชการที่ 3 ระหว่าง 1 มกราคม- 31 ธันวาคม 2550 กลุ่มที่ศึกษา (Case Group) เป็นผู้ที่ทำร้ายตนเองแต่ไม่เสียชีวิต จำนวน 43 คน (33.6%) และกลุ่มควบคุม (Control Group) เป็นผู้ป่วยทั่วไป จำนวน 85 คน (66.4%) ใช้วิธีเลือกตัวอย่างแบบเจาะจง (Purposive sampling) เครื่องมือที่ใช้ในการศึกษา คือแบบสัมภาษณ์ระบาดวิทยาผู้ทำร้ายตนเอง ปี พ.ศ. 2550 ของกรมสุขภาพจิตวิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติเชิงพรรณนาหาค่าความเสี่ยงสัมพันธ์ (Odd ratio) และการวิเคราะห์การถดถอยพหุแบบลอจิสติก ในการวิเคราะห์ตัวแปรเชิงเดี่ยวและตัวแปรเชิงซ้อน ผลการศึกษาพบว่าผู้ทำร้ายตนเองแต่ไม่เสียชีวิต ส่วนใหญ่เป็นเพศหญิงมากกว่าเพศชาย (65.1%และ 34.9%) อายุระหว่าง 40-49 ปี (27.9%) สถานภาพสมรส คู่ มากกว่าโสด (62.8% และ 27.9%) ประกอบอาชีพรับจ้างหรือใช้แรงงาน และเกษตรกรรม (32.6% และ 27.9%) ได้รับการศึกษาต่ำกว่าปริญญาตรี (100%) ใช้วิธีการกินยาเกินขนาดมากที่สุด (39.5%) ปัญหาที่ก่อให้เกิดการทำร้ายตนเองมากที่สุด คือปัญหาน้อยใจคนใกล้ชิดที่ดุด่า (48.8%) ปัญหาขัดแย้งทะเลาะกับคนใกล้ชิด (30.23%) โดยมีเหตุกระตุ้น เนื่องจากมีปัญหาชีวิตสะสมมานานและมากจนถึงขีดสุด (51.2%) กลุ่มที่ศึกษามีโรคประจำตัว (18.7%) ได้แก่ ความดันโลหิตสูง เบาหวาน และปวดข้อ/เข่า/หลัง เรื้อรัง (33.3%,25.1%, และ 2.3%) มีภาวะซึมเศร้า (46.5%) พักอาศัยร่วมกับบุคคลที่ติดสุรา (37.2%) และติดยาเสพติด (4.7%) ความจำเป็นในการต้องการความช่วยเหลือของผู้ทำร้ายตนเอง ที่ควรได้รับการช่วยเหลือเพิ่มเติมมากที่สุด คือสุขภาพจิต (34.9%) รองลงมาคือความสัมพันธ์กับคนใกล้ชิด (30.2%) และเศรษฐกิจ (23.3%) จากการวิเคราะห์ ปัจจัยเสี่ยง-ปัจจัยปกป้อง ในการทำร้ายตนเองซ้ำ โดยวิธี Multiple logistic regression พบว่าปัจจัยเสี่ยงต่อการทำร้ายตนเอง ได้แก่ การมีภาวะซึมเศร้า มากกว่า 6 อาการขึ้นไป 14.3 เท่า (95%C.I. เท่ากับ 0.02 ถึง 0.26) ความขัดแย้งกับคนใกล้ชิด 7.3 เท่า (95%C.I. เท่ากับ 0.05 ถึง 0.26) อาศัยร่วมกับคนดื่มสุรา 7.3 (95% C.I. เท่ากับ 0.04 ถึง 0.48) และ ดื่มสุรา 5.2 เท่า (95%C.I. เท่ากับ 0.06 ถึง 0.62) ปัจจัยปกป้องการทำร้ายตนเอง ได้แก่ การยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียงในการดำรงชีวิต 9 เท่า (95% C.I. เท่ากับ 2.54 ถึง 31.79) อย่างมีนัยสำคัญที่ระดับ 0.05 สรุป ผู้ที่ทำร้ายตนเองต้องการความช่วยเหลือในเรื่องการดูแลสุขภาพจิตเป็นลำดับแรก รองลงมาเป็นเรื่องความสัมพันธ์กับคนใกล้ชิด และเศรษฐกิจปัจจัยเสี่ยงต่อการทำร้ายตนเองซ้ำ ได้แก่ การมีภาวะซึมเศร้า ความขัดแย้งกับคนใกล้ชิด การอาศัยร่วมกับคนดื่มสุรา และ การดื่มสุราส่วนปัจจัยปกป้องการทำร้ายตนเองซ้ำ ได้แก่ การยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียงในการดำรงชีวิต. ข้อเสนอแนะ ควรส่งเสริมให้บุคลากรใช้การสัมภาษณ์นี้เป็นส่วนหนึ่งของการให้บริการแก่กลุ่มทำร้ายตนเอง การส่งเสริมความสัมพันธ์ที่ดีกับคนในครอบครัวและคนใกล้ชิด ยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียงในการดำรงชีวิต ตลอดจนสนับสนุนให้เกิดการมีส่วร่วมของคนในชุมชนให้มากยิ่งขึ้น.

Keywords: สุขภาพจิต, ภาวะซึมเศร้า, การทำร้ายตนเอง, ครอบครัว, การดำรงชีวิต, ความสัมพันธ์

ปีที่เผยแพร่/Year: 2551

Address: -

Code: 200800312

ISSN/ISBN: -

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ไทย

Category: บทคัดย่อ

Download:

 

Preset Colors